คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 39 และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติเรื่องการจดประเด็นข้อพิพาทและการดำเนินกระบวนพิจารณาจะต้องเป็นไปโดยประหยัด สะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรมไว้เป็นการเฉพาะแล้ว กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. เรื่องการชี้สองสถานและการคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทมาอนุโลมใช้บังคับแก่การจดประเด็นข้อพิพาทและการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ได้
ในคดีแรงงาน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 ได้บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งปวง รวมทั้งการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกระบวนพิจารณาและให้มีอำนาจระบุให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานมาสืบก่อนหลังได้ด้วย หากศาลแรงงานพิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามข้อต่อสู้ของคู่ความครบถ้วนแล้ว ต้องถือว่าศาลแรงงานได้ดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมาย คู่ความไม่มีสิทธิคัดค้านว่าศาลแรงงานกำหนดประเด็นข้อพิพาทหรือระบุให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานมาสืบก่อนหลังไม่ถูกต้องเช่นที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 183 วรรคท้ายได้
โจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานว่า จำเลยในฐานะจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีกล่าวหาว่าจำเลยฉ้อโกงเรียกเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลจากลูกค้าของโจทก์ในวันโอนบ้านและที่ดินทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งเป็นการฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้จากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ใช่เป็นฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานนี้จึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา

Share