แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อสัญญาเช่าซื้อที่กำหนดว่า แม้ในที่สุดต่อไปภายหน้าสัญญาต้องเลิกกันผู้เช่าซื้อตกลงที่จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันที่เจ้าของได้รับรถยนต์คืนหรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อนั้น เป็นข้อสัญญากำหนดการชำระหนี้ค่าเช่าซื้อระหว่างที่ยังมิได้มีการบอกเลิกสัญญา ซึ่งไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงใช้บังคับได้ และพอแปลได้ว่าผู้เช่าซื้อยอมใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตามจำนวนดังกล่าวอันเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ไว้เป็นการล่วงหน้า มิใช่ข้อสัญญาที่กำหนดค่าเช่าตามปกติหรือค่าใช้ทรัพย์โดยแท้ไว้ แต่หากเป็นราคาขายรถยนต์ที่กำหนดไว้ส่วนหนึ่งรวมอยู่ด้วยข้อตกลงเช่นนี้จึงไม่ใช่ข้อตกลงเป็นข้อกำหนดค่าตอบแทนการใช้ทรัพย์ไว้ล่วงหน้ากรณีเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคสาม แต่เป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระหรือหากศาลเห็นว่าค่าเสียหายนี้สูงเกินส่วน ศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ 62,808 บาท ค่าขาดราคา 111,148 บาท และค่าติดตามยึดรถยนต์คืน 4,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 177,956 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน54,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนบอกเลิกสัญญาเป็นเบี้ยปรับที่ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 เป็นบทบัญญัติที่รับรองสิทธิของผู้ให้เช่าซื้อเพราะเมื่อเลิกสัญญากันแล้ว นอกจากผู้ให้เช่าซื้อสามารถเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อแล้วยังมีสิทธิริบเงินที่ชำระแล้วได้ด้วยกฎหมายมาตรานี้มิได้จำกัดสิทธิของผู้เช่าซื้อหากคู่สัญญาตกลงเป็นการเฉพาะในส่วนของค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาก็ต้องชำระแก่กัน ทั้งค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระดังกล่าวที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 1 วรรคท้ายนั้น มิใช่ค่าเสียหายหรือค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้าที่ศาลจะมีอำนาจลดลงได้นั้น เห็นว่าตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคท้าย กำหนดว่า “อนึ่ง แม้ในที่สุดต่อไปภายหน้าสัญญาต้องเลิกกัน ผู้เช่าซื้อตกลงที่จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันที่เจ้าของได้รับรถยนต์คืนหรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ” ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นข้อกำหนดการชำระหนี้ค่าเช่าซื้อระหว่างที่ยังมิได้มีการบอกเลิกสัญญา ซึ่งไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด ข้อสัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ และพอแปลได้ว่าผู้เช่าซื้อยอมใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตามจำนวนดังกล่าว อันเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ไว้เป็นการล่วงหน้ามิใช่ข้อสัญญาที่กำหนดค่าเช่าตามปกติหรือค่าใช้ทรัพย์โดยแท้ไว้ แต่หากเป็นราคาขายรถยนต์ที่กำหนดไว้ส่วนหนึ่งรวมอยู่ด้วย ข้อตกลงเช่นนี้จึงไม่ใช่ข้อตกลงเป็นข้อกำหนดค่าตอบแทนการใช้ทรัพย์ไว้ล่วงหน้ากรณีเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม แต่เป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระหรือหากศาลเห็นว่าค่าเสียหายนี้สูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน