คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5337/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีของโจทก์มิใช่เป็นกรณีที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องคดีหรือประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ฟ้องคดีในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นอัยการสูงสุด จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 วรรคหนึ่ง ที่ศาลจะมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 มาศาลในวันที่ศาลประทับฟ้องครั้งแรกซึ่งอยู่ในกำหนดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 แม้การประทับฟ้องครั้งดังกล่าวจะเป็นการผิดพลาดและศาลชั้นต้นต้องนัดไต่สวนมูลฟ้องใหม่ และวันที่ศาลชั้นต้นสั่งคดีมีมูลจะพ้นกำหนดอายุความไปแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้ามาแสดงตนในวันที่ศาลสั่งประทับฟ้องครั้งแรก และออกหมายขังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ในอำนาจศาลแล้ว ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบห้าตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8, 9 และ 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90 และ 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
ระหว่างไต่สวน โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ส่วนจำเลยที่ 8 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 15 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และสำหรับจำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 9 อีกบทหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86 ลงโทษจำเลยที่ 6 ฐานสนับสนุน ในส่วนของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 12 ปี จำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 8 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 เป็นประโยชน์แก่การไต่สวนมีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 8 ปี จำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 5 ปี 4 เดือน ยกข้อหาอื่นและยกฟ้องจำเลยที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 15
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 9 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 6 เสียด้วย จำเลยที่ 1 คงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8 เพียงบทเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 15
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่า นายภักดี เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการของห้างหุ้นส่วนจำกัดองค์การเภสัชกรรมเบอร์ริเออชีววัตถุ จำกัด ภายใน 15 วันนับแต่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช. จึงขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. จึงต้องพ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 11 และ 13 หรือไม่ เห็นว่า ผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยกรรมการสรรหาจำนวนห้าคนและต้องมีคุณสมบัติตาม มาตรา 9 และ 10 และเมื่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบแล้วผู้ได้รับเลือกหรือได้รับความเห็นชอบจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อเมื่อได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทซึ่งต้องกระทำภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับเลือก แต่ถ้าผู้นั้นมิได้ลาออกหรือเลิกประกอบวิชาชีพอิสระภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยรับเลือกให้เป็นกรรมการ แต่กรณีของนายภักดี ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. โดยอาศัยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 19 เรื่องให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 มีผลเฉพาะต่อไป ข้อ (1) การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมิให้กระทบกระเทือนการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และให้ถือว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติซึ่งได้รับแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน พุทธศักราช 2549 ได้รับการสรรหาและแต่งตั้งโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จึงทำให้การเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนของ นายภักดี กรรมการ ป.ป.ช. ชอบด้วยกฎหมายแล้วฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 9 และมาตรา 11 ตามฟ้องข้อ (2) และ ข้อ (3) ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 43 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติ ในหมวดนี้ในกรณีดังต่อไปนี้ (5) มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 84 (8) เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำความผิดในลักษณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรดำเนินการ ทั้งนี้ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดและมาตรา 97 ในกรณีที่ข้อกล่าวหาใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่ามีความผิดทางอาญาให้ประธานกรรมการส่งรายงาน เอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยให้ถือว่ารายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและให้ศาลประทับฟ้องไว้โดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง และในวรรคสองของมาตรา 97 กรณีที่อัยการสูงสุดเห็นว่าความเห็นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งให้ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ ให้ตั้งคณะทำงานขึ้นโดยมีผู้แทนจากแต่ละฝ่ายจำนวนฝ่ายละเท่ากันและในกรณีที่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทน ดังนั้นจะเห็นว่ากรณีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องคดีเอง กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ศาลประทับฟ้องไว้โดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องก่อนประทับฟ้องจึงชอบแล้ว และที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการทรัพย์ของธนาคารผู้เสียหายโดยการควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติงานของฝ่ายกิจการสาขาภูมิภาค 2 โดยขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามมาตรา 8, 9 และ 11 นั้น เห็นว่า การกระทำที่โจทก์ฟ้องข้อ 2 เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดระหว่างเดือนกันยายน 2538 ถึงพฤศจิกายน 2540 ซึ่งความผิดตามมาตรา 8 มีอายุความ 20 ปี ส่วนความผิดตามมาตรา 9 และ 11 มีอายุความ 15 ปี เมื่อนับแต่วันกระทำความผิดเดือนพฤศจิกายน 2540 ความผิดตามมาตรา 9 และ 11 จะครบ 15 ปี เดือนพฤศจิกายน 2555 และโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2554 แม้ศาลชั้นต้นจะประทับฟ้องจำเลยที่ 1 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 และประทับฟ้องจำเลยที่ 2 วันที่ 18 มกราคม 2555 จะเป็นการผิดพลาดและให้นัดไต่สวนมูลฟ้องใหม่โดยมีคำสั่งคดีมีมูลวันที่ 30 เมษายน 2558 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มาศาลในวันที่ศาลประทับฟ้องครั้งแรก แม้วันที่ศาลสั่งคดีมีมูลจะพ้นกำหนดอายุความไปแล้วแต่เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้ามาแสดงตนในวันที่ศาลสั่งประทับฟ้องครั้งแรก ประกอบกับศาลได้ออกหมายขังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้ เว้นแต่จะมีประกัน จึงถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ในอำนาจศาลแล้วเพราะคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะครบกำหนด 15 ปี ในเดือนพฤศจิกายน 2555 ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนจำเลยที่ 7 ที่ 9 ที่ 11 ถึงที่ 14 ที่ศาลสั่งประทับฟ้องเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 และประทับฟ้องจำเลยที่ 6 ที่ 10 และที่ 15 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 และนับแต่วันที่จำเลยที่ 6 ที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 15 กระทำความผิดตั้งแต่เดือนกันยายน 2538 ถึงพฤศจิกายน 2540 ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 ที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 15 จึงยังไม่ขาดอายุความตามฟ้องข้อ 2 ส่วนตามคำฟ้องข้อ 3 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2539 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 22 เมษายน 2554 ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 15 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2554 แต่จำเลยที่ 1 มาแสดงตนในวันที่ศาลประทับฟ้องครั้งแรกวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 จึงขาดอายุความ แต่ความผิดตามฟ้องข้อ 2 (1) ที่โจทก์บรรยายฟ้องระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 ถึง 28 มีนาคม 2539 ซึ่งอ้างว่าจำเลยที่ 8 ถึงที่ 15 กระทำความผิดระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 ถึง 28 มีนาคม 2539 เรื่องการยื่นคำขอกู้เงินต่อธนาคารผู้เสียหายสำหรับจำเลยที่ 8 ถึงที่ 15 จะครบกำหนดเดือนมีนาคม 2554 แต่โจทก์ฟ้องวันที่ 22 เมษายน 2554 ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 8 ถึงที่ 15 จึงขาดอายุความ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 15 กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ มีอำนาจควบคุมกำกับดูแลพิจารณากลั่นกรองงานด้านสินเชื่อฝ่ายกิจการสาขาภูมิภาคหรือฝ่ายกิจการสาขาภูมิภาค 1 และฝ่ายกิจการสาขาภูมิภาค 2 ของธนาคารผู้เสียหายและเป็นสามีของจำเลยที่ 6 แต่ตามทางไต่สวนไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดตามหน้าที่ คงมีอำนาจควบคุมกำกับดูแลพิจารณากลั่นกรองงานด้านสินเชื่อเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลกิจการกลั่นกรองงานด้านสินเชื่อแต่เข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง โดยให้จำเลยที่ 8 ถึงที่ 15 เป็นตัวแทนในการถือครองที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรขายให้แก่บุคคลทั่วไป แม้ตามระเบียบของธนาคารผู้เสียหายจะไม่มีข้อห้าม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการจัดสรรที่ดินของภริยาถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง และการที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้ธนาคารผู้เสียหายซึ่งตนทำงานอยู่ได้รับความเสียหายจากการที่ต้องยอมให้ตัวแทนของจำเลยที่ 1 หรือที่ 6 นำที่ดินซึ่งมีราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมากู้ยืมเงินไปจากธนาคารผู้เสียหายซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ต้องถูกผูกมัดให้ปฏิบัติตามระเบียบราชการโดยเคร่งครัดซึ่งอาจทำให้การดำเนินงานขององค์การหรือหน่วยงานของรัฐประสบความล้มเหลวและเกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรงและนายสิทธิชัย กรรมการผู้จัดการของธนาคารผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้มีการอนุมัติให้จำเลยที่ 8 ถึงที่ 15 กู้ยืมเงินไปเป็นเงินทั้งสิ้น 51,870,000 บาท และข้อเท็จจริงยังฟังได้อีกว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติเงินกู้รายย่อยให้แก่ลูกค้าที่มาซื้อที่ดินและบ้านในโครงการบ้านจัดสรรสุวินทวงศ์ สวีทโฮม อีกจำนวน 47 ราย และเป็นผู้รับเงินของลูกค้าไปตามที่นายสมจิตร เบิกความว่า เมื่อพยานรับเงินกู้ที่ธนาคารผู้เสียหายอนุมัติให้ลูกค้าแล้วได้นำไปให้จำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8, 9 และ 11 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะมีส่วนช่วยให้การกระทำของจำเลยที่ 1 สำเร็จไปด้วยดี แต่ก็เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และเป็นแต่เพียงนำคำขอกู้ยืมเงินไปให้พนักงานที่มีหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อให้กระทำโดยรวดเร็วและเต็มตามวงเงินกู้ก็จริงแต่ก็มิได้มีส่วนได้เสียกับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงยังไม่เป็นความผิด ส่วนจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 และเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 12124 ซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในโครงการบ้านจัดสรรสุวินทวงศ์ สวีทโฮมด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 6 มีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าว แต่เมื่อจำเลยที่ 6 ไม่ได้เป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐจึงคงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ส่วนจำเลยที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 15 คงเป็นตัวแทนผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินเท่านั้น โดยไม่รู้เจตนาของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 6 มาก่อนเพราะจำเลยบางคนต้องกู้ยืมเงินธนาคารผู้เสียหายในการทำธุรกิจของตน จึงยอมมีชื่อถือครองที่ดินแทนจำเลยที่ 1 และที่ 6 เชื่อว่า จำเลยที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 15 มิได้มีเจตนาสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 15 จึงไม่มีความผิด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนประเด็นอื่นที่โจทก์ฎีกามานั้นศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนไป ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8, 9 และ 11 ส่วนจำเลยที่ 6 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามมาตรา 8 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 8 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 12 ปี จำเลยที่ 6 จำคุก 8 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี และจำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 5 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share