แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะที่ บ. เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ส. และโรงพยาบาลส่งใบแสดงค่ารักษาพยาบาลไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลศาลเจ้าไก่ต่อนั้น บ. ยังไม่ได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย และจำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดู บ. ไม่ใช่บุคคลในครอบครัวตามนิยามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ แม้ต่อมาจำเลยจดทะเบียนว่า บ. เป็นบุตร ก็มีผลให้ บ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยนับแต่วันที่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1557 (เดิม) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ หาได้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ บ. เกิดแต่อย่างใดไม่ จำเลยและ บ. จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามระเบียบดังกล่าวสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนวันที่จำเลยจดทะเบียนว่า บ. เป็นบุตร การที่จำเลยลงชื่อในฎีกาขอเบิกเงินและออกเช็คชำระเงินค่ารักษาพยาบาลของ บ. ให้แก่โรงพยาบาล ส. จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาและเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 (เดิม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 152, 157, 162
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษาแก้เป็นว่า ทางไต่สวนจำเลยให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม ให้จำคุกจำเลย 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศาลเจ้าไก่ต่อ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มีอำนาจหน้าที่อนุมัติเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ ข้อ 4. ของระเบียบดังกล่าว กำหนดว่า บุคคลในครอบครัว หมายความว่า “(1) บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิซึ่งยังไม่?บรรลุนิติภาวะ…” ซึ่งมีความหมายว่า บิดามีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลได้แต่เฉพาะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวฐิติพร โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กชายบุญส่ง เกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2550 ซึ่งเป็นการคลอดก่อนกำหนด มีอาการติดเชื้อ ไตวาย และตัวเหลือง ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 8 ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2550 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2550 ครั้นวันที่ 30 เมษายน 2550 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 8 ส่งใบแสดงค่ารักษาพยาบาลของเด็กชายบุญส่ง เป็นเงิน 146,095 บาท ไปยังจำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศาลเจ้าไก่ต่อ วันที่ 19 มิถุนายน 2550 จำเลยจดทะเบียนว่าเด็กชายบุญส่งเป็นบุตร วันที่ 28 มิถุนายน 2550 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 8 มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศาลเจ้าไก่ต่อ ในวันเดียวกันนั้น จำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศาลเจ้าไก่ต่อลงชื่อเป็นผู้อนุมัติให้เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของเด็กชายบุญส่งในฎีกาเบิกเงินงบประมาณรายจ่าย แล้วออกเช็คส่งไปชำระให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 8 และโรงพยาบาลออกใบเสร็จรับเงินให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลศาลเจ้าไก่ต่อ วันที่ 9 กันยายน 2559 เด็กชายบุญส่งได้รับบัตรประจำตัวคนพิการประเภทความพิการ 3 การเคลื่อนไหว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ต่อมาคณะอนุกรรมการไต่สวนเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และคดีฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านว่า จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ถึง 1.5 ส่วนความผิดตามฟ้องข้อ 1.6 นั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์เฉพาะความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการในการปฏิบัติการตามหน้าที่ รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 ระงับไป เพราะคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6)
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยเบิกค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนจำเลยจดทะเบียนว่าเด็กชายบุญส่งเป็นบุตร เป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 บัญญัติว่า “เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อ…บิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร…” และมาตรา 1557 (เดิม) บัญญัติว่า “การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 มีผล…(2) นับแต่วันจดทะเบียน ในกรณีที่บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตร” เพิ่งมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2551 เป็นต้นมา มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 1557 และให้ใช้ความใหม่แทนว่า การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด ดังนั้น ก่อนวันที่ 8 มีนาคม 2551 สิทธิของเด็กที่จะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากบิดา เกิดขึ้นนับแต่วันที่บิดาจดทะเบียนว่าเป็นบุตรเป็นต้นไป หาใช่นับแต่วันที่เด็กเกิดแต่อย่างใดไม่ ส่วนระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ ข้อ 4. นิยามคำว่า บุคคลในครอบครัว หมายความว่า “(1) บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิซึ่งยังไม่?บรรลุนิติภาวะ…” เมื่อระเบียบดังกล่าวไม่ได้กำหนดว่าการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผลตั้งแต่เมื่อใด จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557 (เดิม) ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ ขณะที่เด็กชายบุญส่งเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 8 ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2550 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2550 และโรงพยาบาลดังกล่าวส่งใบแสดงค่ารักษาพยาบาลไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลศาลเจ้าไก่ต่อเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 นั้น เด็กชายบุญส่งยังไม่ได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย และจำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายบุญส่ง เด็กชายบุญส่งจึงไม่ใช่บุคคลในครอบครัวตามนิยามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ เด็กชายบุญส่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยนับแต่วันที่จดทะเบียนรับรองว่าเด็กชายบุญส่งเป็นบุตรเป็นต้นไป โดยไม่มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่เด็กชายบุญส่งเกิดเหมือนดังบทบัญญัติมาตรา 1557 ที่แก้ไขใหม่ ภายหลังจากจำเลยอนุมัติให้เบิกจ่ายและออกเช็คชำระเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 8 แล้ว ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 64 บัญญัติว่า “บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้…” จำเลยจึงไม่อาจแก้ตัวว่า จำเลยไม่รู้กฎหมายทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557 (เดิม) และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับเป็นกฎหมายในขณะที่เกิดเหตุคดีนี้ โดยให้ถือว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดดังที่จำเลยฎีกาได้ เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของเด็กชายบุญส่ง แล้วลงชื่อในฎีกาขอเบิกเงินและออกเช็คชำระเงินค่ารักษาพยาบาลของเด็กชายบุญส่งให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 8 จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาและเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) เป็นความผิดสำเร็จแล้ว การที่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557 กำหนดให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผลนับแต่วันที่เด็กชายบุญส่งเกิด ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย ไม่ใช่เป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ที่ให้ใช้กฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557 ที่แก้ไขใหม่ ไม่ใช่กฎหมายอาญา จึงไม่มีผลทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้น เห็นว่า ก่อนที่จำเลยจะอนุมัติให้วางฎีกาขอเบิกเงินนั้น ฎีกาดังกล่าวผ่านการตรวจพิจารณาของหัวหน้าส่วนการคลังและปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลศาลเจ้าไก่ต่อโดยไม่มีการทักท้วง และไม่ปรากฏว่าจำเลยบังคับขู่เข็ญบุคคลดังกล่าวแต่อย่างใด ประกอบกับภายหลังจากจำเลยฟังคำสั่งศาลฎีกาที่อนุญาตให้จำเลยฎีกา และจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างฎีกาแล้ว จำเลยคืนเงิน 146,095 บาท ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลศาลเจ้าไก่ต่อแล้ว ซึ่งเป็นการบรรเทาความเสียหายให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลศาลเจ้าไก่ต่อตามที่จำเลยแถลงไว้ในฎีกาของจำเลย แม้จำเลยไม่ได้ชำระดอกเบี้ยของเงินต้นดังกล่าวตั้งแต่วันที่รับไปด้วย แต่องค์การบริหารส่วนตำบลศาลเจ้าไก่ต่อยังสามารถมีสิทธิติดตามดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โดยไม่มีอายุความ เมื่อได้คำนึงถึงจำเลยที่มีอายุประมาณ 56 ปีแล้ว มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศาลเจ้าไก่ต่อมาตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาเป็นเวลาประมาณ 16 ปี นับว่ามีคุณงามความดีมาก่อน อีกทั้งจำเลยมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายบุญส่งบุตรผู้เยาว์ซึ่งมีปัญหาความพิการทางการเคลื่อนไหว เห็นสมควรให้โอกาสแก่จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการลงโทษและคุมความประพฤติไว้ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวมมากกว่าการลงโทษจำคุกจำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น แต่เพื่อให้หลาบจำ เห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 15,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง เป็นเวลา 1 ปี ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์