แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 39 บัญญัติ “…ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของซึ่งได้รับมอบจากผู้ส่งของสูญหาย… ถ้าเหตุแห่งการสูญหายนั้นได้เกิดขึ้นในระหว่างที่ของดังกล่าวอยู่ในความดูแลของตนเพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้ถือว่าของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งนับตั้งแต่เวลาที่ผู้ขนส่งได้รับของนั้นไว้จากผู้ส่งของหรือตัวแทนของผู้ส่งของ… จนถึงเวลาที่ผู้ขนส่งส่งมอบของนั้น ณ ท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทางตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 40” และมาตรา 40 บัญญัติว่า “ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าผู้ขนส่งได้ส่งมอบของซึ่งตนได้รับไว้แล้ว… (3) ผู้ขนส่งได้มอบของไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดๆ ซึ่งกฎหมายหรือข้อบังคับที่ใช้อยู่ ณ ท่าปลายทางกำหนดให้ผู้ขนส่งต้องมอบของไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดๆ ซึ่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ ณ ท่าปลายทางกำหนดให้ผู้ขนส่งต้องมอบของที่ขนถ่ายขึ้นจากเรือไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลดังกล่าว” ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวสินค้าอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งนับตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับมอบสินค้าจนถึงเวลาส่งมอบไว้กับเจ้าหน้าที่ ณ ท่าเรือปลายทาง หากสินค้าสูญหายในระหว่างเวลาดังกล่าวผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายของสินค้านั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งรับขนส่งสินค้าพิพาทในเงื่อนไขการส่งแบบ CFS/CFS ตามสำเนาใบตราส่งเอกสารหมาย จ.7 ต่อมาจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นได้รับการว่าจ้างหรือมอบหมายให้ขนส่งสินค้าพิพาททางทะเลในเงื่อนไขการขนส่ง CY/CFS ซึ่งการขนส่งในเงื่อนไขการขนส่งแบบ CFSปลายทางตามสำเนาใบตราส่งเอกสารหมาย จ.7 และ ล.5 เมื่อตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทาง ผู้ขนส่งมีหน้าที่ขนย้ายแพลเล็ตสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์นำเข้าเก็บไว้ในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย หน้าที่ของผู้ขนส่งจะสิ้นสุดลงเมื่อผู้ขนส่งนำสินค้าเข้าเก็บในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าขณะเปิดตู้คอนเทนเนอร์นำสินค้าพิพาทเข้าเก็บในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย หีบห่อของสินค้าพิพาทไม่มีความเสียหายชำรุดฉีกขาด เมื่อสิ่งห่อหุ้มหีบห่อของสินค้าพิพาทฉีกขาดเพิ่งมาพบเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2547 ตามรายการสำรวจสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (survey note) เอกสารหมาย จ.8 และสินค้าพิพาทได้สูญหายไปบางส่วน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าสินค้าพิพาทสูญหายไปหลังจากจำเลยที่ 3 ขนถ่ายออกจากตู้คอนเทนเนอร์ไปเก็บไว้ในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้วสินค้าพิพาทที่สูญหายจึงไม่อยู่ในระหว่างความดูแลรับผิดชอบของผู้ขนส่ง จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของสินค้าดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าจำพวกอุปกรณ์ไฟฟ้าที่บริษัท เครื่องไฟฟ้า บุญธนาภัณฑ์ จำกัด ผู้เอาประกันภัยซื้อจากผู้ขายในประเทศสหรัฐเอมริกา โดยโจทก์ตกลงว่าหากสินค้าเสียหายหรือสูญหายในระหว่างการขนส่ง ตั้งแต่ท่าเรือต้นทางในประเทศสหรัฐอเมริกามายังท่าเรือปลายทางในประเทศไทย และการขนส่งในประเทศไทยจนกว่าสินค้าจะถึงมือหรือโกดังของผู้เอาประกันภัย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยเหตุแห่งภัยใดโจทก์จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยตามจำนวนที่คำนวณได้แต่ต้องไม่เกินวงเงินทุนประกันภัยในการขนส่งสินค้าดังกล่าว เอาประกันภัยว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ไปรับมอบสินค้าจากผู้ขายแล้วขนส่งภายใต้เงื่อนไขแบบ CFS/CFS ซึ่งที่ท่าเรือต้นทางจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งมีหน้าที่ไปรับมอบสินค้าและบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์เองแล้วขนส่งมายังประเทศไทย เมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทางผู้ขนส่งมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าจากเรือนำไปจัดเก็บไว้ในคลังสินค้า เพื่อขอให้ผู้รับตราส่งคืนผู้เอาประกันภัยมารับสินค้า จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งอื่นจัดการดูแลการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือต้นทางแทนโดยไปรับมอบสินค้าจากผู้ขายแล้วขนส่งสินค้าจากท่าเรือต้นทางมาประเทศไทย โดยจำเลยที่ 2 ได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ขายไว้ แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีเรือของตนเอง จึงว่าจ้างหรือมอบหมายให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งอื่น ซึ่งเมื่อรับมอบสินค้าถูกต้องครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 3 ก็ออกใบตราส่งให้เป็นหลักฐานแล้วขนส่งสินค้ามายังท่าเรือกรุงเทพโดยมีการเปลี่ยนถ่ายเรือ 1 ครั้ง เมื่อเรือสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทาง จำเลยที่ 3 แจ้งการมาถึงของสินค้าให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 ก็แจ้งให้ผู้รับตราส่งทราบ จำเลยทั้งสามร่วมกันเปิดตู้คอนเทนเนอร์ขนถ่ายสินค้าออกจากตู้นำไปเก็บไว้ในคลังสินค้า ต่อมาผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งไปขอรับสินค้าจากคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย พบว่ากล่องบรรจุสินค้ามีสภาพไม่เรียบร้อย จึงสำรวจสินค้า ปรากฏว่าสินค้าสูญหายไป 32 กล่อง รวม 3,000 ชิ้น ผู้เอาประกันภัยได้เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งรับผิดชอบความสูญหาย แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ผู้เอาประกันภัยจึงเรียกร้องให้โจทก์ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์เห็นว่า สินค้าสูญหายในระหว่างการขนส่งของจำเลยทั้งสามและอยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยโจทก์จึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย และรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาทวงถามจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนไปจนถึงวันฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ประกอบกิจการขนส่งสินค้า แต่มีวัตถุประสงค์เป็นตัวแทน นายหน้า ตัวแทนค้าต่าง ในกิจการค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศทุกชนิด บริษัทเครื่องไฟฟ้า บุญธนาภัณฑ์ จำกัด ซึ่งสั่งซื้อสินค้าจำพวกอุปกรณ์ไฟฟ้าจากผู้ขายในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประสานงานกับผู้ขายให้จัดส่งสินค้านั้นมาให้ผู้ซื้อ ณ ท่าเรือกรุงเทพ บริษัทดังกล่าวชำระค่าดำเนินการให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาแล้ว โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ส่งหรือรับสินค้า ไม่ได้ตรวจรับสินค้าจากผู้ขายในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือรับขนส่งสินค้ามายังท่าเรือกรุงเทพและเปิดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อขนถ่ายสินค้ามาเก็บไว้ในคลังสินค้า เมื่อพบว่าสินค้าสูญหายบางส่วน บริษัทผู้ซื้อก็ไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ 1 ตรวจสอบหรือให้รับผิดชอบแต่อย่างใด นอกจากนั้นสินค้าได้สูญหายไปหลังจากส่งมาถึงท่าเรือกรุงเทพครบถ้วนแล้วโดยสูญหายขณะอยู่ในคลังสินค้า จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องก็สูงเกินความจริงเพราะสินค้าที่สูญหายมีราคาต่ำกว่าที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และหรือจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างหรือมอบหมายให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งอื่น แต่บริษัทดับเบิ้ลยูพีซี คอนโซลิเดเตอร์ อินซ์ เป็นผู้ว่าจ้าง และจำเลยที่ 3 ตกลงรับขนส่งในระบบตู้สินค้าแบบ CY/CFS ซึ่งที่ท่าเรือต้นทางประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยที่ 3 ไม่เกี่ยวข้องกับการบรรจุสินค้าใส่กล่องหรือหีบห่อจัดกล่องสินค้าเป็นแพลเล็ต และนำกล่องหรือแพลเล็ตเข้าตู้คอนเทนเนอร์ เพราะผู้ขายเป็นผู้บรรจุสินค้าใส่กล่อง แล้วบริษัทดับเบิ้ลยูพีซีคอนโซลิเดเตอร์ อินซ์ บรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ปิดประตูและผนึกดวงตรา (ซีล) ที่ปากตู้ จากนั้นจึงนำตู้คอนเทนเนอร์มามอบให้แก่จำเลยที่ 3 บรรทุกลงเรือ จำเลยที่ 3 ก็จะออกใบตราส่งให้แก่บริษัทดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงไม่ทราบว่าสินค้าที่บรรจุกล่องหรือหีบห่อ หรือลักษณะหีบห่อนั้นมีสภาพ จำนวน และปริมาณเป็นเช่นใด เสียหายหรือขาดจำนวนหรือไม่ เมื่อเรือของจำเลยที่ 3 มาถึงท่าปลายทางในประเทศไทย จำเลยที่ 3 ได้ขนตู้คอนเทนเนอร์ลงจากเรือและส่งมอบตู้ไว้ที่ท่าเรือในสภาพตู้ที่เรียบร้อยมีดวงตราผนึกที่มีหลายเลขเดิม จำเลยที่ 3 ได้ขออนุญาตต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเปิดตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อขนถ่ายสินค้าออกจากตู้นำเข้าไปเก็บในคลังสินค้าหรือโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ขณะเปิดตู้คอนเทนเนอร์ขนถ่ายสินค้า หีบห่อหรือแพลเน็ตมีสภาพปกติเรียบร้อย ไม่มีร่องรอยชำรุดหรือฉีกขาด เมื่อนำสินค้าเข้าเก็บในโรงพักสินค้าการท่าเรือแห่งประเทศไทยก็รับมอบสินค้าไว้ในสภาพเรียบร้อย ไม่ได้โต้แย้งว่าหีบห่อสินค้าชำรุดบกพร่อง จึงถือว่าจำเลยที่ 3 ส่งมอบของแล้วตามมาตรา 40 (3) แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ต่อมาการท่าเรือแห่งประเทศไทยพบว่าสิ่งห่อหุ้มแพลเล็ตฉีก สินค้าสูญหายหรือขาดจำนวน 32 กล่อง แสดงว่าสิ่งห่อหุ้มแพลเล็ตฉีกในขณะสินค้าเก็บอยู่ในโรงพักสินค้าและอยู่ในความดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งส่งมอบของแล้ว การท่าเรือแห่งประเทศไทยก็ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ได้จัดเตรียมเรือให้อยู่ในสภาพที่สามารถเดินทะเลได้อย่างปลอดภัยก่อนบรรทุกสินค้าลงเรือหรือก่อนเรือออกเดินทาง โดยใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติการให้เหมาะสมในการเก็บรักษาดูแลสินค้า ทั้งไม่ได้กระทำการใดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือโดยเจตนาจะก่อให้เกิดการสูญหายหรือละเลยไม่เอาใจใส่สินค้าดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ นอกจากนี้สินค้าคดีนี้มี 2 แพลเล็ต ซึ่งหมายถึง 2 หน่วยการขนส่ง หากฟังว่าสินค้าสูญหายและผู้ขนส่งต้องรับผิดก็ต้องรับผิดไม่เกินหน่วยการขนส่งละ 10,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติในชั้นนี้ว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้าจำพวกอุปกรณ์ไฟฟ้าที่บริษัทเครื่องไฟฟ้า บุญธนาภัณฑ์ จำกัด ผู้เอาประกันภัยสั่งซื้อจากผู้ขายในประเทศสหรัฐอเมริกา และทำการขนส่งทางทะเลโดยเรือของจำเลยที่ 3 จากท่าเรือต้นทางในประเทศสหรัฐอเมริกามายังท่าเรือปลายทางในประเทศไทย เมื่อเรือขนตู้คอนเทนเนอร์สินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพซึ่งเป็นท่าปลายทาง จำเลยที่ 3 ได้ยกขนตู้คอนเทนเนอร์ลงจากเรือไปวางไว้ที่ท่าเรือแล้วขออนุญาตการท่าเรือแห่งประเทศไทยดำเนินการเปิดตู้คอนเทนเนอร์และขนถ่ายสินค้าออกจากตู้ไปจัดเก็บไว้ในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อรอให้ผู้รับตราสารส่งมารับสินค้านั้นไป ต่อมาผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับตราส่งและผู้เอาประกันภัยมาขอรับสินค้าที่โรงพักสินค้า พบว่าสินค้าสูญหายไป 32 กล่อง รวม 3,000 ชิ้น จึงเรียกร้องให้โจทก์ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์ตรวจสอบแล้วเห็นว่าสินค้าสูญหายจริง และการสูญหายอยู่ในเงื่อนไขการคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย จึงชดใช้เงินให้แก่ผู้เอาประกันภัยเป็นเงิน 111,882.87 บาท รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดชำระค่าเสียหายของสินค้าที่สูญหาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า สินค้าดังกล่าวสูญหายไปในระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยทั้งสามผู้ขนส่งหรือไม่ ในปัญหานี้มีพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 บัญญัติว่า “…ถ้าเหตุแห่งการสูญหายนั้นได้เกิดขึ้นในระหว่างที่ของดังกล่าวอยู่ในความดูแลของตนเพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้ถือว่าของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งนับตั้งแต่เวลาที่ผู้ขนส่งได้รับของนั้นไว้จากผู้ส่งของหรือตัวแทนของผู้ส่งของ… จนถึงเวลาที่ผู้ขนส่งส่งมอบของนั้น ณ ท่าเรือปลายทางหรือหมายปลายทางตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 40” และมาตรา 40 บัญญัติว่า “ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าผู้ขนส่งได้ส่งมอบของซึ่งตนได้รับไว้แล้ว…(3) ผู้ขนส่งได้มอบของไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดๆ ซึ่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ ณ ท่าปลายทางกำหนดให้ผู้ขนส่งต้องมอบของที่ขนถ่ายขึ้นจากเรือไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลดังกล่าว” ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวสินค้าอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งนับตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับมอบสินค้าจนถึงเวลาส่งมอบไว้กับเจ้าหน้าที่ ณ ท่าเรือปลายทาง หากสินค้าสูญหายไปในระหว่างเวลาดังกล่าวผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายของสินค้านั้น ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งรับขนส่งสินค้าพิพาทในเงื่อนไขการขนส่งแบบ CFS/CFS ตามสำเนาใบตราส่งเอกสารหมาย จ.7 ต่อมาจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นได้รับการว่าจ้างหรือมอบหมายให้ขนส่งสินค้าพิพาททางทะเลในเงื่อนไขการขนส่งแบบ CY/CFS นายบรรยงก์ พนักงานสำรวจสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และนายกฤษณะ พนักงานสำรวจสินค้าและประเมินค่าสินไหมทดแทนของบริษัทพีแอนด์เอแอ็ดจัสเม้นท์ จำกัด พยานโจทก์เบิกคามตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านในทำนองเดียวกันว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ขนส่งจะสิ้นสุดเมื่อผู้ขนส่งเปิดตู้คอนเทนเนอร์นำสินค้าเข้าเก็บในโกดังหรือโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว ซึ่งในข้อนี้นางสาวสุวรรณี และนางสาวแววตา พยานจำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านได้ความสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 3 มีนายภูสิทธิ เบิกความโดยใช้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่าการขนส่งในเงื่อนไขการขนส่งแบบ CFS ปลายทางตามสำเนาใบตราส่งเอกสารหมาย จ.7 และ ล.5 เมื่อตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทาง ผู้ขนส่งมีหน้าที่ขนย้ายแพลเล็ตสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์นำเข้าเก็บไว้ในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย หน้าที่ของผู้ขนส่งจะสิ้นสุดลงเมื่อผู้ขนส่งนำสินค้าเข้าเก็บในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว ซึ่งก็สอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 1 ดังนั้น ที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่าความรับผิดของผู้ขนส่งจะสิ้นสุดเมื่อผู้รับตราสารส่งได้รับสินค้าไปจากโรงพักสินค้าเรียบร้อยจึงขัดกับคำเบิกความของพยานโจทก์เอง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการขนส่งในเงื่อนไขแบบ CFS ปลายทาง หน้าที่ของผู้ขนส่งจะสิ้นสุดลงเมื่อผู้ขนส่งนำสินค้าจากตู้คอนเทนเนอร์เข้าเก็บในโรงพักสินค้าเรียบร้อยแล้ว คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สินค้าพิพาทสูญหายเมื่อใด โดยมีเพียงนางสาวจิดาภา วงศ์เทพวาณิชย์ เจ้าหน้าที่พิจารณาสินไหมทั่วไปของโจทก์เบิกความโดยใช้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า เมื่อสินค้าถึงท่าเรือปลายทาง จำเลยทั้งสามร่วมกันเปิดตู้คอนเทนเนอร์ขนถ่ายสินค้าออกจากตู้ไปเก็บไว้ในโรงพักสินค้าเพื่อรอผู้รับตราส่งมารับสินค้า ต่อมาเมื่อผู้รับตราส่งมาขอรับสินค้าจึงพบว่ามีสินค้าพิพาทสูญหายไป 32 กล่อง โดยโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่าสินค้าพิพาทสูญหายไปในช่วงเวลาใด ส่วนจำเลยที่ 1 มีนางสาวสุวรรณีผู้จัดการฝ่ายการตลาดของจำเลยที่ 1 เบิกความโดยใช้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2547 เรือของจำเลยที่ 3 ได้ขนส่งสินค้าพิพาทมาถึงท่าเรือกรุงเทพ และได้มีการนำสินค้าเข้าเก็บในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยไม่มีของสูญหายแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีนายธวัชชัย ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 3 เบิกความโดยใช้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2547 เรือของจำเลยที่ 3 บรรทุกสินค้าพิพาทบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์มาถึงท่าเรือปลายทางในสภาพเรียบร้อย ไม่มีร่องรอยการเปิดตู้คอนเทนเนอร์มาก่อนและมีดวงตราผนึกติดอยู่ปกติ ต่อมาวันที่ 19 มกราคม 2547 เจ้าหน้าที่ศุลกากรและเจ้าหน้าที่พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยอนุญาตให้เปิดตู้คอนเทนเนอร์ขนถ่ายสินค้าเข้าเก็บในโรงพักสินค้า ปรากฏว่าหีบห่อของสินค้าพิพาทจำนวน 2 หีบห่อมีสภาพเรียบร้อย ไม่มีร่องรอยชำรุดหรือฉีกขาดแต่อย่างใดตามสำเนาใบรายการขนถ่ายสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ (Tally Sheet) เอกสารหมาย ล.2 ในวันดังกล่าวการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้รับมอบสินค้าพิพาทไว้ในสภาพเรียบร้อยไม่มีการโต้แย้งว่าหีบห่อสินค้าชำรุดบกพร่องแต่อย่างใด จนกระทั่งต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2547 การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงพบว่าสิ่งห่อหุ้มหีบห่อของสินค้าพิพาทฉีกขาดตามใบรายการสำรวจสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (Survey Note) เอกสารหมาย จ.8 แสดงว่า สิ่งห่อหุ้มหีบห่อฉีกขาดและสินค้าพิพาทสูญหายขณะอยู่ในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย นายภูสิทธิและนายสุรชัย พยานจำเลยที่ 3 เบิกความโดยใช้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ขณะเปิดตู้คอนเทนเนอร์นำสินค้าพิพาทเข้าเก็บในโรงพักสินค้าจะต้องมีเจ้าพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยและตัวแทนสายการเดินเรือไปตรวจนับและตรวจสภาพของหีบห่อสินค้าและบันทึกไว้ในใบรายการขนถ่ายสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ (Tally Sheet) เอกสารหมาย ล.2 หากพบว่าหีบห่อสินค้าชำรุดฉีกขาดหรือเสียหายก็จะต้องมีการบันทึกไว้ในช่องหมายเหตุ (Remarks) ให้ชัดเจนโดยเจ้าพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยตามสำเนาใบรายการขนถ่ายสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ (Tally Sheet) เอกสารหมาย ล.2 (และ ล.6) สินค้าพิพาทรายสุดท้ายจำนวน 2 หีบห่อ ไม่มีการระบุความเสียหายใดๆ ไว้ในช่องหมายเหตุแต่ประการใด โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างพยานหลักฐานของจำเลยในข้อนี้ นายบรรยงก์เจ้าพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย พยานโจทก์ก็ได้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านว่าในการขนสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์เข้าเก็บในโรงพักสินค้า จะมีเจ้าพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้ควบคุมดูแลและมีตัวแทนสายการเดินเรือมาดูแลด้วย ตัวแทนเรือและเจ้าพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยจะทำใบรายการขนถ่ายสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ (Tally Sheet) ไว้คนละฉบับมีข้อความตรงกัน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าขณะเปิดตู้คอนเทนเนอร์นำสินค้าพิพาทเข้าเก็บในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย หีบห่อของสินค้าพิพาทไม่มีความเสียหายชำรุดฉีกขาด เมื่อสิ่งห่อหุ้มหีบห่อของสินค้าพิพาทฉีกขาดเพิ่งมาพบเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2547 ตามรายการสำรวจสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (Survey Note) เอกสารหมาย จ.8 และสินค้าพิพาทได้สูญหายไปบางส่วน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าสินค้าพิพาทสูญหายไปหลังจากจำเลยที่ 3 ขนถ่ายออกจากตู้คอนเทนเนอร์ไปเก็บไว้ในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว สินค้าพิพาทที่สูญหายจึงไม่อยู่ในระหว่างรับผิดชอบของผู้ขนส่ง จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของสินค้าดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นต่อไป เพราไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษายืน