คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5333/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่บุคคลใดจะเป็นข้าราชการหรือไม่ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายหาใช่ว่าบุคคลใดที่ต้องไปปฏิบัติราชการแล้วจะมีฐานะเป็นข้าราชการเสมอไป ซึ่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ข้าราชการ”หมายความว่า ทหารประจำการและข้าราชการกลาโหมพลเรือนที่บรรจุในตำแหน่งอัตราทหาร ส่วนคำว่า “ทหารกองประจำการ” หมายความว่า ทหารกองประจำการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร และพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2479มาตรา 4(3) บัญญัติว่า “ทหารกองประจำการ” หมายความว่า ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนกองประจำการและได้เข้ารับราชการในกองประจำการจนกว่าจะได้ปลด และมาตรา 4(8)บัญญัติว่า “ทหารประจำการ” หมายความว่า ทหารซึ่งรับราชการตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดซึ่งไม่ใช่ทหารกองประจำการ จึงเห็นได้ว่าตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหารฯ และพระราชบัญญัติรับราชการทหารฯ ได้แยกทหารประจำการ และ ทหารกองประจำการไว้ต่างหากจากกัน เฉพาะทหารประจำการเท่านั้นที่ถือว่าเป็นข้าราชการจะแปลความให้หมายความรวมเป็นจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทหารกองประจำการว่าเป็นข้าราชการ อันจะต้องรับโทษหนักขึ้นเป็นสามเท่า ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 10 ด้วยหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 5, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 10 และริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 10 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาว่า… คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เพียงข้อเดียวว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทหารกองประจำการถือเป็นข้าราชการอันจะต้องรับโทษหนักขึ้นเป็นสามเท่าตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2มีสถานะเป็นข้าราชการโดยเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 แม้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหารจะแยกทหารประจำการกับทหารกองประจำการไว้ต่างหากจากกัน แต่สิทธิและหน้าที่ส่วนใหญ่เหมือนกัน ทั้งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานคำว่า “ข้าราชการ” หมายถึงผู้ปฏิบัติราชการในส่วนราชการเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ถูกคัดเลือกให้เข้ารับราชการทหารเป็นทหารกองประจำการในสังกัดกองทัพบกซึ่งเป็นส่วนราชการจึงมีสถานะเป็นข้าราชการนั้น เห็นว่า การที่บุคคลใดจะเป็นข้าราชการหรือไม่ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย หาใช่ว่าบุคคลใดที่ต้องไปปฏิบัติราชการแล้วจะต้องมีฐานะเป็นข้าราชการเสมอไป พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ว่า “ข้าราชการทหาร” หมายความว่า ทหารประจำการและข้าราชการกลาโหมพลเรือนที่บรรจุในตำแหน่งอัตราทหาร ส่วนคำว่า “ทหารกองประจำการ” หมายความว่าทหารกองประจำการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร และพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 4(3) บัญญัติว่า “ทหารกองประจำการ” หมายความว่าผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนกองประจำการและได้เข้ารับราชการในกองประจำการจนกว่าจะได้ปลดและมาตรา 4(8) บัญญัติว่า “ทหารประจำการ” หมายความว่า ทหารซึ่งรับราชการตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดซึ่งไม่ใช่ทหารกองประจำการ จึงเห็นได้ว่า เฉพาะทหารประจำการเท่านั้นที่ถือว่าเป็นข้าราชการ นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหารพ.ศ. 2521 มาตรา 10 บัญญัติว่า “การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการทหารจะให้ได้รับเงินในชั้นใด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง” และมาตรา 11 บัญญัติว่า “การแต่งตั้ง การเลื่อนหรือลดตำแหน่ง การย้าย การโอน การเลื่อนขั้นเงินเดือนและการออกจากราชการของข้าราชการทหารให้เป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับและระเบียบแบบแผนของกระทรวงกลาโหม

ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่นักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหมด้วยโดยอนุโลม

การเลื่อนขั้นเงินเดือนของทหารกองประจำการ ให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด”

จึงเห็นได้ว่าข้าราชการทหารย่อมจะมีสิทธิต่าง ๆ ดีกว่าทหารกองประจำการไม่ใช่ข้าราชการทหาร เพียงแต่กฎเกณฑ์หรือระเบียบบางอย่างอาจนำมาใช้ทหารกองประจำการด้วยเท่านั้น เมื่อข้าราชการทหารมีความหมายเฉพาะทหารประจำการเท่านั้นจะแปลความให้หมายความรวมถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเพียงทหารกองประจำการและเป็นผู้ต้องเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในกองทัพตามเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 เท่านั้น หาได้ไม่ จำเลยที่ 2 จึงมิได้เป็นข้าราชการตามความในพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 10 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าไม่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2ตามพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวนั้นชอบแล้ว

Share