คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5330/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามหนังสือรับรองมีข้อความจำกัดอำนาจของ อ. ให้ลงลายมือชื่อและประทับตราผูกพันบริษัทได้เฉพาะในเรื่องที่เป็นคำขอและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกรมสรรพากรเท่านั้น การยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ การฟ้องคดีหรือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี มิใช่คำขอที่เกี่ยวกับการจดทะเบียน แต่เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายของนิติบุคคลที่แสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคล เมื่อโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดย อ. ลงลายมือชื่อและประทับตราของโจทก์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็รับไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์โจทก์ แต่ลดเบี้ยปรับให้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ธ) บัญญัติให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น โดยไม่ได้กำหนดโดยเฉพาะเจาะจงว่าผู้ขายสินค้าหรือให้บริการต้องเป็นผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการศาสนาหรือการสาธารณกุศล หากดูที่วัตถุประสงค์ของการขายสินค้าหรือการให้บริการเป็นสำคัญว่าถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่นแล้วย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ธ) เมื่อมูลนิธิสวนแก้วนำสิ่งของที่โจทก์บริจาคไปใช้เพื่อประโยชน์แก่การศาสนาหรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ โดยไม่ได้ช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ หากเป็นการช่วยเหลือผู้ยากไร้โดยทั่วไปในสังคม การที่โจทก์บริจาคของเสียที่เกิดจากการผลิต (วัตถุดิบ) ให้แก่มูลนิธิสวนแก้ว จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ธ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีพฤษภาคม 2549 และเดือนภาษีตุลาคม 2549 (ที่ถูก เดือนภาษีธันวาคม 2549) กับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สภ.5 ชบ.1/309/2554 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สภ.5 ชบ.1/310/2554 กับขอให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) เลขที่ 05200050 – 25521013 – 005 – 00001 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2552 และ เลขที่ 05200050 – 25521013 – 005 – 00002 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2552 และคำวินิจฉัยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สภ.5 ชบ.1/309/2554 และเลขที่ สภ.5 ชบ.1/310/2554 ลงวันที่ 7 กันยายน 2554 เป็นว่า ให้โจทก์มีความรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมสำหรับสินค้าเฉพาะรายการที่โจทก์บริจาคให้แก่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรมราชทัณฑ์ พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ต้องชำระเพิ่มเติมนับแต่วันที่ต้องชำระจนถึงวันชำระเสร็จ แต่มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระ ส่วนรายการที่โจทก์บริจาคให้มูลนิธิสวนแก้วได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1) (ธ) ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมใช้ชื่อว่า บริษัทโกลด์อินโด อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด มีกรรมการ 6 คน โดยกรรมการหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนบริษัทได้ในทุกกรณียกเว้นนายอนุชา ที่มีข้อจำกัดอำนาจกระทำแทนไว้บางประการ โจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นายอนุชา ลงชื่อเป็นผู้มอบอำนาจให้บริษัทบลูเมนทอล ริชเตอร์ แอนด์ สุเมธ จำกัด และ/หรือนายสุเมธ เป็นผู้ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ จำเลยเป็นนิติบุคคล สังกัดกระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีพฤษภาคม 2549 และเดือนภาษีธันวาคม 2549 ให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากการที่โจทก์บริจาคชุดชั้นในมีตำหนิให้แก่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรมราชทัณฑ์ 3 ครั้ง และบริจาคของเสียที่เกิดจากการผลิตสินค้า (วัตถุดิบ) ให้แก่มูลนิธิสวนแก้ว 6 ครั้ง โดยหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีพฤษภาคม 2549 ให้โจทก์ชำระภาษี 1,397,040.06 บาท เงินเพิ่มถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2552 จำนวน 838,244.04 บาท เบี้ยปรับ 2,025,923.01 บาท รวมเป็น 4,261,187.20 บาท และเดือนภาษีธันวาคม 2549 ให้โจทก์ชำระภาษี 7,549,889.58 บาท เงินเพิ่มถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2552 เป็นเงิน 3,737,195.34 บาท เบี้ยปรับ 7,906,132.43 บาท รวมเป็น 19,193,217.35 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยนายอนุชา กรรมการโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อในอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มคงเหลือเรียกเก็บร้อยละ 40 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย คงให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มของเดือนภาษีพฤษภาคม 2549 รวม 3,045,633.34 บาท และให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มของเดือนภาษีธันวาคม 2549 รวม 14,449,537.89 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานเป็นการประเมินภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์บริจาคชุดชั้นในมีตำหนิให้แก่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรมราชทัณฑ์ และบริจาคของเสียที่เกิดจากการผลิตสินค้า (วัตถุดิบ) ให้แก่มูลนิธิสวนแก้ว ถือว่าเป็นการขายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยทัณฑสถานหญิงกลาง กรมราชทัณฑ์ และมูลนิธิสวนแก้วไม่ได้เป็นองค์การสาธารณกุศล ตามประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) เรื่องกำหนดองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาลและสถานศึกษา ตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 (4) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254) พ.ศ.2535 การที่โจทก์บริจาคชุดชั้นในมีตำหนิให้แก่ทัณฑสถานหญิงกลางจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ธ) และ (น) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ไม่อุทธรณ์ การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนนี้จึงยุติตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า หนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดชลบุรี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเอกสารประกอบแนบคำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ฉบับลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 และตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ออกให้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 มีข้อความตรงกันว่า “3. จำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้คือ กรรมการหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทได้ในทุกกรณี ยกเว้น นายอนุชา ให้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทได้ในกรณีคำขอและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ไม่รวมถึงคำขอและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกรมสรรพากร” ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์มีข้อจำกัดอำนาจของผู้แทนนิติบุคคลในการกระทำการแทนโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 และ 71 โดยให้นายอนุชากรรมการของโจทก์มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์อันมีผลผูกพันโจทก์ได้เฉพาะในกรณีคำขอและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ เท่านั้น นายอนุชาไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์อันเป็นการกระทำการแทนให้มีผลผูกพันโจทก์ได้ทุกกรณี นายอนุชามิใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในการยื่นคำอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีต่อกรมสรรพากร คำอุทธรณ์คัดค้านการประเมินของโจทก์ในคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามหนังสือรับรองเอกสารนั้นจำกัดอำนาจของนายอนุชาเฉพาะในเรื่องที่เป็นคำขอและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกรมสรรพากรเท่านั้น การยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ การฟ้องคดีหรือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมิใช่คำขอที่เกี่ยวกับการจดทะเบียน แต่เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายของนิติบุคคลที่แสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคล เมื่อโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยนายอนุชาลงลายมือชื่อและประทับตราของโจทก์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็รับไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์โจทก์แต่ลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า การที่โจทก์บริจาคของเสียที่เกิดจากการผลิตสินค้า (วัตถุดิบ) ให้แก่มูลนิธิสวนแก้ว ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ธ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้ามีกำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ตามมาตรา 81 (1) (น) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 3 (4) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ.2534 ซึ่งได้กำหนดโดยชัดแจ้งว่า ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคสินค้าให้แก่องค์การหรือสถานสาธารณกุศลหรือแก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาอื่น นอกจากสถานพยาบาลและสถานศึกษาของทางราชการ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศ ซึ่งก็คือ ประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) เรื่องกำหนดองค์การ สถานสาธารณกุศล เท่านั้น หากบริจาคสินค้าให้แก่องค์การ สถานสาธารณกุศลใดที่ไม่ปรากฏชื่อว่าเป็นองค์การ สถานสาธารณกุศล ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวแล้วก็ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนกรณีตามมาตรา 81 (1) (ธ) แห่งประมวลรัษฎากร นั้นเป็นกรณีที่กิจการนั้นกระทำด้วยตนเองโดยไม่ได้นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น เช่น มูลนิธิผลิตสื่อธรรมะเพื่อขายนำรายได้มาใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยมิได้นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น หรือวัดจัดให้บริการจอดรถยนต์ภายในวัด โดยนำรายได้ไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายดูแลรักษาศาสนสมบัติภายในวัด โดยมิได้นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ธ) แห่งประมวลรัษฎากร การบริจาคสินค้าของโจทก์ให้มูลนิธิสวนแก้วเป็นการบริจาคให้เฉพาะกลุ่มคน คือ เยาวชน เด็กกำพร้า และแรงงานที่ยากจนที่อาศัยอยู่ในมูลนิธิสวนแก้วเพื่อให้นำสินค้าที่บริจาคไปใช้ในการฝึกฝนอาชีพของตน มิใช่เป็นการขายสินค้าเพื่อประโยชน์แก่การศาสนาหรือสาธารณกุศลภายในประเทศ โจทก์ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ธ) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า มาตรา 81 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ (1) การขายสินค้าที่มิใช่การส่งออก หรือการให้บริการ ดังต่อไปนี้ …(ธ) การขายสินค้าหรือการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น (น) การขายสินค้าหรือการให้บริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา…” เห็นได้ว่า บทบัญญัติในมาตรา 81 (1) (ธ) เป็นการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น โดยไม่ได้กำหนดโดยเฉพาะเจาะจงว่าผู้ขายสินค้าหรือให้บริการต้องเป็นผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการศาสนาหรือการสาธารณกุศล หากดูที่วัตถุประสงค์ของการขายสินค้าหรือการให้บริการเป็นสำคัญว่าถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่นแล้วย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ธ) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนมาตรา 81 (1) (น) แห่งประมวลรัษฎากรประกอบมาตรา (3) (4) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ.2534 เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดตัวผู้รับบริจาคไว้เป็นการเฉพาะเจาะจงว่า หากเป็นการบริจาคให้แก่องค์การหรือสถานสาธารณกุศล หรือแก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาอื่น ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่ต้องพิจารณาว่าจะเป็นการบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์ใด และเมื่อการบริจาคเป็นการจำหน่าย จ่าย โอนสินค้าโดยไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทน ซึ่งอยู่ในความหมายของคำว่า “ขาย” จึงเป็นการขายตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นบทบัญญัติที่นำมาพิจารณาเกี่ยวกับการบริจาคสินค้าของผู้ประกอบการจึงหาได้จำกัดเฉพาะกรณีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1) (น) ประกอบพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (4) เท่านั้นไม่ มิฉะนั้นจะไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการที่อยากจะช่วยเหลือสังคมซึ่งก็คงทำได้แต่เพียงบริจาคให้กับสถานพยาบาลและสถานศึกษาของทางราชการ องค์การหรือสถานสาธารณกุศล หรือสถานพยาบาลและสถานศึกษาที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น ทั้งที่ยังมีหน่วยงานอื่นอีกจำนวนมากที่ดำเนินงานอันมีลักษณะช่วยเหลือสังคมเช่นเดียวกัน การที่โจทก์บริจาคของเสียที่เกิดจากการผลิตสินค้า (วัตถุดิบ) ให้แก่มูลนิธิสวนแก้วนั้น ได้ความจากพระปโยธร ผู้รับมอบอำนาจมูลนิธิสวนแก้วว่า สิ่งของที่โจทก์บริจาคให้แก่มูลนิธิสวนแก้ว ได้แก่ วัตถุดิบที่ใช้สำหรับเย็บชุดชั้นใน มูลนิธินำสิ่งของที่ทางโจทก์บริจาคให้ไปจำหน่ายเพื่อนำรายได้จากการจำหน่ายมาหมุนเวียนในโครงการต่าง ๆ ของมูลนิธิสวนแก้ว การจำหน่ายวัตถุดิบในการเย็บชุดชั้นใน หมายถึง การคัดแยกวัตถุดิบประเภทดังกล่าวแล้วนำออกประมูลขายให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อไปผลิตต่อแล้วนำรายได้จากการประมูลนำส่งมูลนิธิสวนแก้ว มูลนิธิสวนแก้วจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่อกระทรวงมหาดไทย มีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่พุทธศาสนา ส่งเสริมศีลธรรมอันดี อนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีไทย ร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นเพื่อสาธารณประโยชน์ และไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับทางการเมือง มีภารกิจหลักในการเผยแพร่ธรรมะและสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ในกรณีคนชรายากไร้ไม่มีที่พักจะมีที่พักให้แก่คนชราและจัดหางานให้ทำ เงินทุนที่ใช้ดำเนินการเป็นเงินทุนของมูลนิธิที่ได้มาจากการบริจาครวมถึงการขายสิ่งของบริจาค ซึ่งรวมถึงสิ่งของบริจาคของโจทก์ เห็นได้ว่ามูลนิธิสวนแก้วนำสิ่งของที่โจทก์บริจาคไปใช้เพื่อประโยชน์แก่การศาสนาหรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ โดยไม่ได้ช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ หากเป็นการช่วยเหลือผู้ยากไร้โดยทั่วไปในสังคม การที่โจทก์บริจาคของเสียที่เกิดจากการผลิต (วัตถุดิบ) ให้แก่มูลนิธิสวนแก้ว จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ธ) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ด้วยว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นพยานเอกสารเพิ่มเติม ตามมาตรา 87 และมาตรา 187 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำสั่งให้ศาลภาษีอากรกลางสืบพยานโจทก์และจำเลยเพิ่มเติม ซึ่งโจทก์และจำเลยได้นำสืบเอกสารดังกล่าวเพิ่มเติมและศาลรับไว้ แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยประเด็นนี้อีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์บริจาคชุดชั้นในที่มีตำหนิให้แก่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรมราชทัณฑ์ เป็นไปโดยสุจริตไม่ได้มีเจตนาเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากรจึงเห็นสมควรให้งดเบี้ยปรับในส่วนนี้เสียทั้งหมด แต่ไม่ได้พิพากษางดเบี้ยปรับให้ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง โดยงดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าเฉพาะรายการที่โจทก์บริจาคให้แก่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรมราชทัณฑ์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้งดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมสำหรับสินค้าเฉพาะรายการที่โจทก์บริจาคให้แก่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรมราชทัณฑ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share