คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเคยเป็นโจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์จากผู้คัดค้าน แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาล โดยผู้คัดค้านยอมยกที่ดินให้แก่ผู้ร้องและบุตรผู้เยาว์ และผู้ร้องให้สัญญาว่าจะไม่นำที่ดินส่วนของบุตรผู้เยาว์ไปจำหน่ายจ่ายโอนหรือจำนองทั้งนี้จนกว่าบุตรผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าวแล้วย่อมมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในกระบวนพิจารณา บุตรผู้เยาว์ผู้ได้รับการให้ที่ดินเป็นบุคคลนอกคดี และสัญญาประนีประนอมยอมความก็มิได้มีเงื่อนไขห้ามบุตรผู้เยาว์มิให้จำหน่ายจ่ายโอนที่ดินส่วนของตนบุตรผู้เยาว์โดยผู้ปกครองย่อมมีอำนาจร้องขอต่อศาล ขออนุญาตทำนิติกรรมขายที่ดินของผู้เยาว์ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ตนเป็นมารดาผู้ปกครองเด็กชายจักรกฤษณ์สิทธิวาร และสมานฉันท์ ผลประสิทธิ์ ประสงค์จะขายที่ดินสวนยางของบุตรผู้เยาว์ทั้งสาม ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาต

ผู้คัดค้านได้คัดค้านว่า ที่ดินแปลงนี้ผู้คัดค้านได้ทำสัญญาประนีประนอมกับผู้ร้องในคดีแพ่งแดงที่ 122/2509 ของศาลจังหวัดจันทบุรีโดยผู้คัดค้านยอมให้ที่ดินแปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องและผู้เยาว์ และสัญญามีเงื่อนไขว่าผู้ร้องจะไม่นำที่ดินของผู้เยาว์ไปขายจนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ ทั้งไม่มีเหตุสมควรขาย

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องขายได้ในราคาไม่ต่ำกว่า 80,000 บาท

ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องฎีกา

ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านเป็ฯบิดาของผู้เยาว์ทั้งสามและที่ดินของผู้เยาว์ที่ขอขายนี้เป็นที่ดินที่ผู้คัดค้านทำสัญญายอมยกให้แก่ผู้เยาว์ในคดีที่ผู้ร้องฟ้องขอแบ่งทรัพย์จากผู้คัดค้านหมายเลขแดงที่ 122/2509 สัญญายอมนั้น ข้อ 1 ตอนท้ายมีความว่า “และเพื่อประโยชน์ของบุตรทั้งสามคนที่ระบุชื่อข้างต้น โจทก์ (ผู้ร้อง) เองก็ให้สัญญากับจำเลย (ผู้คัดค้าน) ว่าจะไม่นำที่ดินส่วนของบุตรทั้งสามไปจำหน่ายจ่ายโอน รวมถึงการจำนองด้วย ทั้งนี้จนกว่าบุตรทั้งสามทุกคนจะบรรลุนิติภาวะแล้ว”

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าว ย่อมมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 แต่บุตรผู้เยาว์ทั้งสามผู้ได้รับการให้ที่ดินเป็นบุคคลนอกคดี และสัญญาประนีประนอมยอมความก็มิได้มีเงื่อนไขห้ามบุตรผู้เยาว์มิให้จำหน่ายจ่ายโอนที่ดินส่วนของตนแต่อย่างใด ดังนั้น ผู้เยาว์โดยผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ปกครองย่อมมีอำนาจขออนุญาตทำนิติกรรมขายที่ดินของผู้เยาว์ได้ คดีมีปัญหาต่อไปว่ากรณีมีเหตุสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้ขายที่ดินของผู้เยาว์หรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า กรณียังไม่มีความจำเป็นและสมควรที่จะขายที่ดินของผู้เยาว์พิพากษายืน

Share