แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ร้องสอดขอรับมรดกตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1749 ต้องทำระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จะร้องชั้นบังคับคดีไม่ได้
ย่อยาว
ด. ตาย มีที่ดินเป็นมรดกตกทอดแก่บุตร 4 คน คือ โจทก์ จำเลยและผู้ร้องทั้งสอง จำเลยไม่ยอมแบ่งมรดก โดยอ้างว่า ด. ขายที่ดินแก่จำเลยแล้ว คดีระหว่างโจทก์จำเลยถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้แบ่งที่ดินเป็น 4 ส่วน ให้โจทก์ได้ 1 ส่วน ชั้นบังคับคดีโจทก์จำเลยตกลงแบ่งที่ดินกันเองโดยแบ่งที่ดินเป็น 4 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นของจำเลย ส่วนที่ 2 เป็นของโจทก์ อีก 2 ส่วนเป็นของทายาทอื่น ผู้ร้องทั้งสองร้องขอรับส่วนแบ่งที่ดินอีก 2 ส่วนนั้น จำเลยคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับส่วนที่ดินส่วนที่ 3 และ 4 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาในชั้นฎีกาที่จะวินิจฉัยมีว่าผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิร้องขอรับส่วนแบ่งมรดกที่พิพาทได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าผู้ร้องทั้งสองมิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีเมื่อโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกจากจำเลยจนคดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องมาร้องขอรับส่วนแบ่งในที่พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกในชั้นบังคับคดีไปทีเดียวไม่ได้ หากผู้ร้องประสงค์จะเอาส่วนของตนก็ชอบที่จะฟ้องร้องเป็นคดีขึ้นใหม่ การร้องสอดขอรับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกในฐานะทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1749 นั้นจะต้องกระทำขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจะมาร้องในชั้นบังคับคดีไม่ได้ ในชั้นนี้ผู้ร้องทั้งสองจึงมาร้องขอรับส่วนแบ่งที่พิพาทไม่ได้”
พิพากษายืน