คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าเกิดการละเมิดขึ้นในระหว่างที่เจ้าของเรือยนต์ (จำเลยที่ 1) ให้บุคคลอื่นเช่าเรือไปประกอบธุระกิจโดยที่คนประจำเรือรวมทั้งจำเลยที่ 2 ผู้ควบคุมเรือนั้นได้รับเงินเดือนจากผู้เช่า ดังนี้ย่อมถือว่าผู้เช่าเป็นนายจ้างของ จำเลยที่ 2 หาใช่เจ้าของเรือยนต์ไม่. แม้ในระยะนี้จะได้มีการซ่อมเรือโดยเจ้าของเรือเป็นผู้จ่ายเงินค่าซ่อมก็ดี ก็ยังถือว่าเป็นเวลาระหว่างเช่า.

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของเรือยนต์มี จำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างผู้ควบคุมเรือ ๆ ขาดความระมัดระวังประมาทเลิ่นเล่อทำให้เรือยนต์จำเลยชนเรือลำเลียงของโจทก์แตกเสียหาย
จำเลยรับว่าจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของเรือจริงแต่ขณะเกิดเหตุบริษัทสงขลาลำเลียงจำกัดได้เช่าไปเด็ดขาดจากจำเลยที่ ๑ แล้ว เรือยนต์จำเลยเลี้ยวพ้นเรือโจทก์แล้วเกิดอุบัติเหตุกระแสร์น้ำเชี่ยวพัดเรือไปกระทบกันเพียงเบา เบา เสียหายเล็กน้อย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายเพราะทำละเมิด ๓๘,๖๒๖.๙๖ บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑
โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ ๑ รับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๒
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วคดีมีข้อวินิจฉัยเฉพาะข้อที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาเกี่ยวแก่การวินิจฉัยข้อนี้มี ป.พ.พ. ม.๔๒๕ ว่า นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งการละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปใน ทางการที่จ้างนั้น. ข้อเท็จจริงได้ความชัดว่าในระหว่างเกิดการละเมิดในคดีนี้อยู่ในระยะเวลาที่จำเลยที่ ๑ ผู้เป็นเจ้าของเรือยนต์อ่าวไทย ๕ ได้ให้บริษัทสงขลาลำเลียงจำกัดเช่าเรือไปประกอบกิจการของผู้เช่าตลอดจนคนประจำเรือรวมทั้งจำเลยที่ ๒ ผู้มีหน้าที่ควบคุมเรือยนต์อ่าวไทย ๕ ด้วย, ก็ได้รับเงินเดือนจากบริษัทสงขลาลำเลียงจำกัดซึ่งเป็นผู้เช่า, ในระหว่างระยะเวลาเช่าบริษัทสงขลาจึงเป็นผู้จ้างหรือนายจ้างของจำเลยที่ ๒ ส่วน จำเลยที่ ๑ ผู้เป็นเจ้าของเรือหาใช่เป็นผู้จ้างจำเลยที่ ๒ ในระหว่างนั้นไม่. ในระหว่างเวลาเช่าจึงเรียกไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นนายจ้างจำเลยที่ ๒ แม้จะปรากฏในระหว่างเวลาเช่าได้มีการซ่อมแซมเรือโดยฝ่ายเจ้าของเรือเป็นผู้จ่ายเงินค่าซ่อมเรือตามสัญญาก็ดีแต่ในระหว่างซ่อมก็ยังถือว่าเป็นเวลาระหว่างเช่า จึงพิพากษายืน.

Share