คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5328/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 985 วรรคแรก มิได้บัญญัติให้นำมาตรา 928 ซึ่งอยู่ในเรื่องการรับรองตั๋วแลกเงินมาใช้บังคับในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย จะนำมาตรา 928 ใช้บังคับแก่ตั๋วสัญญาใช้เงินได้เพียงกรณีเดียว คือ กรณีตามมาตรา 986 วรรคสองซึ่งบัญญัติไว้ว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นตามมาตรา 913(4) ผู้ทรงจะต้องนำยื่นให้ผู้ออกตั๋วจดรับรู้เพื่อรับรองการจ่ายเงินภายในเวลาดังกำหนดไว้ในมาตรา 928 แต่เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อทวงถามตามมาตรา 913(3) ตอนต้น บทบัญญัติว่าด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินไม่มีบทบัญญัติบังคับไว้อย่างกรณีตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ภายหลังได้เห็น จึงต้องถือว่าตั๋วสัญญาใช้เงินที่ให้ใช้เงินเมื่อทวงถามมีความหมายและผลบังคับต่างกับตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อได้เห็นฉะนั้น โจทก์ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 944 ประกอบด้วยมาตรา 985 วรรคแรก ที่จะต้องนำตั๋วยื่นเพื่อให้ใช้เงินภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลงในตั๋ว ดังนั้นหากคดีฟังได้ว่า โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทและจำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัลใช้เงินตามตั๋วแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดใช้เงินได้ บทกฎหมายเกี่ยวกับอายุความเป็นบทตัดสิทธิของเจ้าหนี้จึงต้องแปลโดยเคร่งครัด เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001บัญญัติว่า ในคดีฟ้องผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาสามปีนับแต่วันตั๋วนั้น ๆ ถึงกำหนดใช้เงินเช่นนี้จะแปลว่ากำหนดสามปีต้องนับแต่วันที่ออกตั๋วนั้นไม่ได้ เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อทวงถาม วันที่โจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสองให้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินคือวันที่4 กันยายน 2528 จึงเป็นวันเริ่มต้นถึงกำหนดใช้เงินเพราะก่อนวันที่โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองยังไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในการใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท เพียงแต่ว่าโจทก์มีสิทธิจะเรียกร้องทวงถามให้ใช้เงินได้ทันทีและจำเลยทั้งสองก็มีสิทธิจะชำระเงินได้ทันทีโดยโจทก์ไม่ต้องทวงถามเท่านั้นตามหลักทั่วไปในมาตรา 203 และเมื่อวันสุดท้ายแห่งอายุความเป็นวันอาทิตย์ที่4 กันยายน 2531 ซึ่งเป็นวันหยุดก็ต้องนับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วยตามมาตรา 161 เดิม โจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 5 กันยายน 2531จึงยังไม่พ้นเวลาสามปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีโดยมิได้ยกประเด็นว่าตั๋วสัญญาใช้เงินไม่มีมูลหนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ และศาลชั้นต้นก็ไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นวินิจฉัย ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อต่อสู้ การที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทไม่มีมูลหนี้จึงถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนจากกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2526 จำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 1 ฉบับ ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2526 จำนวนเงิน8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี กำหนดใช้เงินคืนเมื่อทวงถาม เพื่อชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้รับอาวัลการใช้เงิน จำเลยที่ 1 ได้ชำระดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์เรื่อยมานับแต่วันออกตั๋วจนถึงวันที่31 กรกฎาคม 2527 หลังจากนั้นก็มิได้ชำระ โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยทั้งสองให้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยทั้งสองเพิกเฉยดอกเบี้ยค้างชำระตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2527 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,574,136.99 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน13,574,136.99 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน13,574,136.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีจากต้นเงินจำนวน 8,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ฟ้องไม่มีวันถึงกำหนดใช้เงินจึงไม่สมบูรณ์ แต่กฎหมายกำหนดให้ใช้ได้โดยให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น โจทก์และจำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัลได้เห็นตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2526โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2531 พ้นกำหนด 3 ปีนับแต่วันที่ได้เห็นคดีโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยทั้งสองไม่เคยรับหนังสือทวงถามจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ฟ้องถึงกำหนดใช้เงินเมื่อทวงถามจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินชำระหนี้โจทก์และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับอาวัลต้องร่วมกันรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามอัตราที่ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินเท่านั้น พิพากษาให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 8,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้งฟังเป็นยุติได้ว่า เดิมเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2526จำเลยที่ 1 โดยนายสมศักดิ์ วนาสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการและกรรมการอีก 1 คน ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 8,000,000 บาทแก่โจทก์ โดยนายสมศักดิ์เป็นผู้รับอาวัลการใช้เงินตามเอกสารหมายจ.9 ต่อมานายสมศักดิ์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 แทนนายสมศักดิ์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2526จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้จัดการและกรรมการอีก 1 คนได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 8,000,000 บาท ระบุว่าจะจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวภายในวันที่เมื่อทวงถามโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัลการใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.5 ให้แก่โจทก์แทนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิม
พิเคราะห์แล้ว จำเลยทั้งสองฎีกาข้อแรกว่าตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อได้เห็น เมื่อโจทก์ผู้ทรงตั๋วมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 944 และมาตรา 928 จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระเงินได้ ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 983 และ 984 วรรคสอง ในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินบัญญัติให้ตั๋วสัญญาใช้เงินจะต้องมีรายการวันถึงกำหนดใช้เงินหากขาดไปก็ไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน เว้นแต่เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งไม่ระบุเวลาใช้เงินก็ให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น และบทบัญญัติมาตรา 913 ในเรื่องตั๋วแลกเงินได้บัญญัติเรื่องวันถึงกำหนดใช้เงินไว้อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) หรือ (2) ฯลฯ
(3) เมื่อทวงถาม หรือเมื่อได้เห็น หรือ
(4) เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่ได้เห็น ซึ่งนำมาใช้บังคับในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินได้เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ตามมาตรา 985 วรรคแรก ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 สัญญาจะใช้เงินจำนวน 8,000,000 บาทแก่โจทก์เมื่อทวงถาม จึงเห็นได้ว่า วันถึงกำหนดใช้เงินของตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทหมายถึงวันที่โจทก์ทวงถามให้ใช้เงินตามความในตอนต้นของมาตรา 913(3) เท่านั้น ไม่มีทางที่จะแปลว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อได้เห็นแต่อย่างใด ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเป็นตั๋วเงินที่สัญญาว่าจะใช้เงินเมื่อทวงถาม จึงเป็นตั๋วชนิดให้ใช้เงินเมื่อได้เห็นซึ่งโจทก์ผู้ทรงต้องยื่นให้รับรองภายในกำหนดเวลาที่บังคับไว้ตามมาตรา 944 และมาตรา 928 ดังนั้น โจทก์ผู้ทรงต้องยื่นให้จำเลยที่ 1 ผู้ออกตั๋วใช้เงินภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ลงในตั๋ว ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 944 ประกอบมาตรา 985 วรรคแรกเป็นบทบัญญัติเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งให้ใช้เงินเมื่อได้เห็นโดยกำหนดให้ใช้เงินในวันเมื่อยื่นตั๋ว แต่ต้องยื่นภายในกำหนดเวลาที่บังคับไว้เพื่อการยื่นให้รับรองตั๋วเงินชนิดให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นด้วยคือภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลงในตั๋วเงินหรือภายในเวลาช้าเร็วกว่านั้นตามแต่ผู้สั่งจ่ายจะได้ระบุไว้ตามมาตรา 928 แต่มาตรา 985 วรรคแรก มิได้บัญญัติให้นำมาตรา 928 ซึ่งอยู่ในส่วนที่ 2 เรื่อง การรับรองตั๋วแลกเงินมาใช้บังคับในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย จะนำมาตรา 928 ใช้บังคับแก่ตั๋วสัญญาใช้เงินได้เพียงกรณีเดียวคือ กรณีตามมาตรา 986 วรรคสองซึ่งบัญญัติไว้ว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นตามมาตรา 913(4) ผู้ทรงจะต้องนำยื่นให้ผู้ออกตั๋วจดรับรู้เพื่อรับรองการจ่ายเงิน ภายในเวลาดังกำหนดไว้ในมาตรา 928แต่ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทคดีนี้เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อทวงถามตามมาตรา 913(3) ตอนต้น บทบัญญัติในหมวด 3 ว่าด้วยตั๋วสัญญาใช้เงิน ไม่มีบัญญัติบังคับไว้อย่างกรณีตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อได้เห็นหรือให้ใช้เงิน เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ภายหลังได้เห็น จึงต้องถือว่าตั๋วสัญญาใช้เงินที่ให้ใช้เงินเมื่อทวงถามมีความหมาย และผลบังคับต่างกับตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อได้เห็น ฉะนั้น โจทก์ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทซึ่งระบุไว้ให้ใช้เงินเมื่อทวงถาม จึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 944ประกอบด้วยมาตรา 985 วรรคแรก ที่จะต้องนำตั๋วยื่นเพื่อให้ใช้เงินภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลงในตั๋วดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ดังนั้นหากคดีฟังได้ว่า โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทและจำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัลใช้เงินตามตั๋วแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดใช้เงินได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 199/2532 ระหว่างบริษัทพระยายังธุรกิจ จำกัด โจทก์ นายวิรัตน์ สีเหล็กกับพวก จำเลยกับพวก จำเลย
จำเลยทั้งสองฎีกาข้อสามว่า โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่ออกตั๋ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นว่าบทกฎหมายเกี่ยวกับอายุความเป็นบทตัดสิทธิของเจ้าหนี้ จึงต้องแปลโดยเคร่งครัดเมื่อมาตรา 1001 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า ในคดีฟ้องผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาสามปีนับแต่วันตั๋วนั้น ๆ ถึงกำหนดใช้เงิน เช่นนี้จะแปลว่ากำหนดสามปีต้องนับแต่วันที่ออกตั๋วนั้นดังที่จำเลยฎีกาไม่ได้ เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อทวงถาม วันที่โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองให้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทคือวันที่ 4 กันยายน 2528 จึงเป็นวันเริ่มต้นถึงกำหนดใช้เงิน เพราะก่อนวันที่โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองยังไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในการใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเพียงแต่ว่าโจทก์มีสิทธิจะเรียกร้องทวงถามให้ใช้เงินได้ทันทีและจำเลยทั้งสองก็มีสิทธิจะชำระเงินได้ทันทีโดยโจทก์ไม่ต้องทวงถามเท่านั้น ตามหลักทั่วไปในมาตรา 203 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อวันสุดท้ายแห่งอายุความเป็นวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน 2531ซึ่งเป็นวันหยุด ก็ต้องนับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 161 เดิม โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 5 กันยายน 2531 จึงยังไม่พ้นเวลาสามปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001ดังนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2515 (ประชุมใหญ่) ระหว่างนายตัน เอกเกียด โจทก์ บริษัทข้าวนครไชยศรี จำกัด กับพวก จำเลยฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งสองฎีกาข้อสี่ว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทไม่มีมูลหนี้แต่จำเลยทั้งสองให้การโดยมิได้ยกประเด็นข้อนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ศาลชั้นต้นจึงไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นวินิจฉัย ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อต่อสู้ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท จำนวน 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย แก่โจทก์ จึงชอบแล้วฎีกาจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share