คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5325/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันโดยโจทก์มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ที่ดินเป็นเหมืองผลิตถ่านหิน อันเป็นกิจการภายในอำนาจหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมาย โจทก์มีอำนาจ กระทำการซื้อที่ดินได้โดยลำพังไม่จำต้องออกเป็นกฎหมายเวนคืน แม้บริเวณที่ที่ดินที่จะซื้อตั้งอยู่ได้เคยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขต ที่ดินที่จะเวนคืน และพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้หมดอายุไปแล้วก็ตาม หามีผลทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจที่จะซื้อที่ดินไม่ เพราะแม้ตาม พ.ร.บ.การพลังงานแห่งชาติ มาตรา 21 บัญญัติว่าเมื่อมีความจำเป็น ที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในระบบการผลิต ขยายระบบการผลิตหรือการจำหน่ายพลังงาน ให้ดำเนินการเวนคืน ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ก็ตามแต่มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้ความหมายของคำว่า การเวนคืนว่าหมายถึง การบังคับเวนคืนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ และตามมาตรา 5 บัญญัติว่า อสังหาริมทรัพย์ซึ่งรัฐต้องการ เพื่อกิจการใด ๆ อันจำเป็นเพื่อการเป็นสาธารณูปโภค… ฯลฯ … หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ… ฯลฯ … เมื่อมิได้ตกลงใน เรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่น ให้เวนคืนตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงมิได้เป็นบทบัญญัติของกฎหมาย ที่บังคับโดยเด็ดขาดว่า โจทก์จะได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพียง ทางเดียวด้วยการออกกฎหมายเวนคืนการที่จะออกกฎหมายเวนคืนที่ดินจะ กระทำแต่เฉพาะในกรณีที่มิได้มีการตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็น อย่างอื่นเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว ต่อมากลับไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2เพราะได้ราคาสูงกว่าและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลอย่างรีบร้อนและมีพิรุธโดยมีเจตนาไม่สุจริตสมรู้กันทำการฉ้อฉลโจทก์ ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่จะได้รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 1เสียเปรียบ โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลตกลงโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมในอีกคดีหนึ่งนั้นไม่ใช่คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงไม่อาจใช้ยันแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ดังนี้ ไม่จำต้องเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความหรือคำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าว.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกจำเลยสำนวนแรกและจำเลยที่ 1 สำนวนหลังเป็นจำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 สำนวนหลังเป็นจำเลยที่ 2
สำนวนแรก โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินสองแปลง ตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 3591 และ 3911 จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น87,086.35 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับมัดจำไว้แล้ว 34,191.35 บาทต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ให้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินและรับชำระเงินที่เหลือจำนวน 52,895 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือของโจทก์แล้วไม่ไป กลับมีหนังสือถึงโจทก์ แจ้งว่าได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้ว และได้นำเงินมัดจำไปวางไว้ ณ สำนักงานบังคับคดีฯการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 เป็นไปโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องแก่โจทก์และรับเงินที่ค้างชำระถ้าไม่ไปทำนิติกรรมให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินเพราะถูกผู้แทนโจทก์ทำกลฉ้อฉล จำเลยที่ 1 ได้บอกล้างนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้นแล้ว ที่ดินทั้งสองแปลงนั้นจำเลยที่ 1 ได้ขายให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืน
ส่วนสำนวนหลัง โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ และได้รับมัดจำไว้แล้วต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ให้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินแต่จำเลยที่ 1 ไม่ไป จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังได้ร่วมกันทำการฉ้อฉลเอาที่ดินทั้งสองแปลงไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลสั่งให้สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตลอดจนสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการฉ้อฉล ให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์โดยถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และสั่งให้สงวนไว้ซึ่งสิทธิที่โจทก์จะฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองภายในอายุความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้โอนที่ดินแก่โจทก์ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 109/2522 ของศาลชั้นต้น(สำนวนแรก) คดีนั้นอยู่ในระหว่างนัดคู่ความมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินแปลงเดียวกัน กรณีจึงเป็นเรื่องเดียวกัน ต้องห้ามไม่ให้โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) มีคำสั่งไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไป
โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ฎีกา
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตามฟ้องเกิดขึ้นด้วยกลฉ้อฉล จำเลยที่ 1 ได้บอกล้างแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1ทำการฉ้อฉลโจทก์ สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นภายหลังที่จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่เสียเปรียบที่จำเลยที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลเป็นการฟ้องเพื่อให้จำเลยที่ 1ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายมิได้เป็นการรู้เห็นเป็นใจและยินยอมให้ฟ้องกันเพื่อได้เปรียบโจทก์ สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1เกิดขึ้นจากกลฉ้อฉลของผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้บอกล้างตกเป็นโมฆะแล้ว โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยที่ 2 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2531 โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้เมื่อวันที่ 24ธันวาคม 2522 เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี จึงล่วงพ้นเวลาที่โจทก์จะฟ้องแย่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องเป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์เป็นคำฟ้องที่ไม่อาจบังคับได้ เพราะที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่ามี น.ส.3 ก. จำเลยที่ 2 มีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น และฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1)ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ส่วนคำพิพากษาตามยอมในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 109/2522 ของศาลชั้นต้น ไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสองสำนวนนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2)ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่โจทก์ และรับเงินจำนวน 52,895 บาท ที่ค้างชำระถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 โจทก์ชอบที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองมากับฟ้องในชั้นนี้ได้อยู่แล้ว ไม่สมควรพิพากษาให้สงวนไว้ซึ่งสิทธิที่โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง คำขอของโจทก์ในข้อนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าตามพระราชบัญญัติการพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2496 มาตรา 21 บัญญัติว่า”เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในระบบการผลิตขยายระบบการผลิต หรือการจำหน่ายพลังงาน ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ” และว่าก่อนการซื้อขายที่ดินได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2512 ไว้แล้วและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีอายุห้าปี ได้สิ้นสุดลงเมื่อปี 2517ไม่ปรากฏว่ามีการขยายหรือต่ออายุพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว โจทก์ไม่อาจจะได้มาซึ่งที่ดินจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าแม้ตามพระราชบัญญัติการพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2496 มาตรา 21ซึ่งใช้บังคับขณะนั้นจะบัญญัติว่า “เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในระบบการผลิตขยายระบบการผลิตหรือการจำหน่ายพลังงาน ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์” ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 มาตรา 4 บัญญัติว่า “การเวนคืน”หมายความว่า การบังคับเวนคืนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ และตามมาตรา 5 บัญญัติว่า “อสังหาริมทรัพย์ซึ่งรัฐต้องการเพื่อกิจการใด ๆ อันจำเป็นเพื่อการเป็นสาธารณูปโภค…ฯลฯ…หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ…ฯลฯ… เมื่อมิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่น ให้เวนคืนตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้” ดังนั้นพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงมิได้เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่บังคับโดยเด็ดขาดว่า โจทก์จะได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพียงทางเดียวด้วยการออกกฎหมายเวนคืนเท่านั้น เพราะการที่จะออกกฎหมายเวนคืนที่ดินจะกระทำแต่เฉพาะในกรณีที่มิได้มีการตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้มีการตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันโดยโจทก์มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ที่ดินเป็นเหมืองผลิตถ่านหินอันเป็นกิจการภายในอำนาจหน้าที่ของโจทก์ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2496 มาตรา 5 โจทก์จึงมีอำนาจที่จะกระทำการซื้อที่ดินได้โดยลำพังไม่จำต้องออกเป็นกฎหมายเวนคืน นอกจากนี้แม้จะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2512 อันเป็นบริเวณที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่มาก่อนแล้วและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้หมดอายุไป โดยไม่มีการต่อหรือขยายอายุไว้ ก็หามีผลทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจที่จะซื้อที่ดินได้อีกไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปมีว่าโจทก์จะขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ เห็นว่า หากจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จริง ก็ไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ลงในบันทึกดังกล่าวในฐานะผู้รับผิดด้วยการที่จำเลยที่ 1 ต้องร่วมลงลายมือในบันทึกนั้นแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทอยู่หาได้มีการส่งมอบให้จำเลยที่ 2 ไปแต่อย่างใดไม่ ทั้งยังทำให้เชื่อได้ว่าที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิทธิประทานบัตรตามเอกสารหมาย ล.34นั้น ได้ทำขึ้นหลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้แก่โจทก์แล้ว โดยจำเลยทั้งสองมีเจตนาไม่สุจริตสมรู้กันทำการฉ้อฉลโจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 1 ต้องการขายให้แก่จำเลยที่ 2เพราะจะได้ราคาสูงกว่า การทำสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย ล.34และสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ในศาลจึงได้กระทำกันอย่างรีบร้อนและมีพิรุธ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นไปโดยไม่สุจริตเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่จะได้รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 1เสียเปรียบ โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินฉบับดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237ส่วนที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้า ศาลตกลงโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 194/2521 ของศาลชั้นต้นนั้น ไม่ใช่คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงไม่อาจใช้ยันแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ศาลจึงไม่จำต้องเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความหรือคำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีไปตามยอมแล้วนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ศาลแสดงว่าสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมบังคับแก่โจทก์ไม่ได้และไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาจึงเห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 194/2521 ของศาลชั้นต้นไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสองสำนวนนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145(2) กับไม่เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์และรับเงินจำนวน 52,895 บาท ที่ค้างชำระ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share