คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5321/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทในราคาต่ำกว่าราคาประเมินและมูลค่าที่ดินมาก โดย ศ. ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ได้คัดค้านแล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เลื่อนการขายทอดตลาดไปทั้งที่เป็นการขายทอดตลาดที่มีผู้เสนอราคาครั้งแรก เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการโต้แย้งกระบวนวิธีการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง มิใช่โต้แย้งว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควร อันเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ซึ่งการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในกรณีของจำเลยทั้งสองนี้ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองโดยวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่กรณีการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง จึงเป็นการไม่ถูกต้องไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 242 (1) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้ยกขึ้นอ้างในฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247
แม้จำเลยที่ 1 ไม่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท แต่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อการขายทอดตลาดครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ไม่มีผู้เสนอราคาต่อมาในการขายทอดตลาดครั้งที่ 3 ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองได้เสนอราคาสูงสุด ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิคัดค้านว่าราคาดังกล่าวมีจำนวนต่ำเกินสมควร ในกรณีเช่นว่านี้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องเลื่อนการขายทอดตลาดไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ศ. เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิคัดค้านราคาในนามของจำเลยที่ 1 ได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เลื่อนการขายทอดตลาดไปโดยอนุมัติการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ถือได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจำนวน 9,609,910.90 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยจำเลยทั้งสองยอมผ่อนชำระเป็นายเดือน และจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาโจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 2 รวม 4 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 13264 และที่ดินโฉนดเลขที่ 65493 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 211 และเลขที่ 217 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาในการขายทอดตลาดครั้งที่ 3 ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองประมูลซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 13264 และ 65493 ได้ในราคา 4,860,000 บาท
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดใหม่
โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 13264 และที่ดินโฉนดเลขที่ 65493 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง อ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมินและมูลค่าที่ดินมาก โดยนายศุภเดช ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ได้คัดค้านแล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เลื่อนการขายทอดตลาดไปทั้งที่เป็นการขายทอดตลาดที่มีผู้เสนอราคาเป็นครั้งแรก เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีอาจคัดค้านว่าราคาดังกล่าวมีจำนวนต่ำเกินสมควร ในกรณีเช่นว่านี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายทอดตลาดทรัพย์สินไป…” คำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการโต้แย้งกระบวนวิธีการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง มิใช่โต้แย้งว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควร อันเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ซึ่งการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในกรณีของจำเลยทั้งสองนี้ ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองโดยวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่กรณีการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง จึงเป็นการไม่ถูกต้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 242 (1) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้ยกอ้างในฎีกา ศาลฏีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฏีกาของจำเลยทั้งสองเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงและศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อให้พิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอความให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ไถ่ถอนจำนอง แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้นายศุภเดชเป็นผู้ดูแลการขายทอดตลาดในการขายทอดตลาดครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ไม่มีผู้เข้าสู้ราคา ต่อมาในการขายทอดตลาดครั้งที่ 3 ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองเสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน 4,860,000 บาท นายศุภเดชผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 คัดค้านราคาดังกล่าวว่ามีจำนวนต่ำเกินสมควรแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าจำเลยที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทไม่มาดูแลการขาย ถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่คัดค้านราคา จึงอนุมัติการขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาทให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ไม่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทแต่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อการขายทอดตลาดครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ไม่มีผู้เสนอราคา ต่อมาในการขายทอดตลาดครั้งที่ 3 ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองได้เสนอราคาสูงสุด ดังนี้ ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิคัดค้านว่าราคาดังกล่าวมีจำนวนต่ำเกินสมควร ในกรณีเช่นว่านี้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องเลื่อนการขายทอดตลาดไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง นายศุภเดชเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิคัดค้านราคาในนามของจำเลยที่ 1 ได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เลื่อนการขายทอดตลาดไปโดยอนุมัติการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ถือได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ศาลย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบนั้นเสียได้”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share