คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5321/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การดำเนินการอพยพชาวเวียดนามขององค์การไอซีเอ็มซีผู้อพยพจะต้องลงนามในสัญญาใช้เงินว่าจะต้องจ่ายเงินคืนให้แก่องค์การระหว่างประเทศสำหรับผู้อพยพถ้าผู้อพยพที่ไม่ถือว่าเป็นผู้ลี้ภัยตามกฎหมายสหรัฐอเมริกาจะต้องให้ญาติพี่น้องของผู้อพยพไปจ่ายเงินให้แก่องค์การระหว่างประเทศสำหรับผู้อพยพเสียก่อนเงินที่องค์การระหว่างประเทศสำหรับผู้อพยพได้รับจากผู้อพยพนั้นจะนำไปใช้ในการดำเนินการเพื่ออพยพคนอื่นต่อไปจำเลยรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาดังนั้นองค์การไอซีเอ็มซีจึงมิได้กำไรจากการอพยพชาวเวียดนามเลยการจ้างโจทก์จึงเป็นการจ้างที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจได้รับยกเว้นมิต้องอยู่ภายใต้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่16เมษายน2515ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่103ลงวันที่16มีนาคม2515ข้อ14และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่16เมษายน2515

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่เจ้าหน้าที่เก็บและตรวจข้อมูล ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ11,350 บาท จ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาเมื่อวันที่7 กรกฎาคม 2536 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์เขียนข้อความสาปแช่งจำเลยซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควรและโจทก์มิได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า และตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดว่า ลูกจ้างซึ่งทำงานต่อเนื่องมากกว่า 3 ปี เมื่อจำเลยเลิกจ้างจะได้รับค่าชดเชยเท่ากับหนึ่งร้อยแปดสิบวันของเงินเดือนอัตราสุดท้ายก่อนออกจากงาน โจทก์ทำงานมาเกิน 3 ปีจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย และในระหว่างทำงานจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2536 ถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2536เป็นเงิน 5,296 บาท ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือมิเช่นนั้นให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 136,200 บาท จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 20,808 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน68,100 บาท และค่าจ้าง 5,296 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์เป็นลูกจ้างขององค์การอินเตอร์เนชั่นแนล แคทอลิคมิเกรชั่น คอมมิชชั่น (ไอซีเอ็มซี)ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสวิตเซอร์แลนด์และมีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย โจทก์เข้าทำงานในองค์การดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2532 โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยและจำเลยไม่มีความรับผิดใด ๆ เป็นส่วนตัวต่อการที่โจทก์เรียกร้องตามฟ้อง องค์การไอซีเอ็มซีดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีนในประเทศไทยโดยสำนักงานสาขากรุงเทพจำเลยเป็นผู้แทนขององค์การไอซีเอ็มซีประจำประเทศไทยองค์การไอซีเอ็มซีจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นการจ้างที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแรงงาน องค์การไอซีเอ็มซีจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายตามฟ้องของโจทก์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 19,673 บาท ค่าชดเชย 68,100 บาท และค่าเสียหาย45,400 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2 ว่า องค์การอินเตอร์เนชั่นแนล แคทอลิค มิเกรชั่นคอมมิชชั่น หรือไอซีเอ็มซีที่จ้างโจทก์ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจหรือไม่ในประเด็นข้อนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า การดำเนินการอพยพชาวเวียดนามขององค์การไอซีเอ็มซี ผู้อพยพจะต้องลงนามในสัญญาใช้เงินว่าจะต้องจ่ายเงินคืนให้แก่องค์การระหว่างประเทศสำหรับผู้อพยพถ้าผู้อพยพที่ไม่ถือว่าเป็นผู้ลี้ภัยตามกฎหมายสหรัฐอเมริกาจะต้องให้ญาติพี่น้องของผู้อพยพไปจ่ายเงินให้แก่องค์การระหว่างประเทศสำหรับผู้อพยพเสียก่อนเงินที่องค์การระหว่างประเทศสำหรับผู้อพยพได้รับจากผู้อพยพนั้นจะนำไปใช้ในการดำเนินการเพื่ออพยพคนอื่นต่อไป จำเลยรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นองค์การไอซีเอ็มซีจึงมิได้กำไรจากการอพยพชาวเวียดนามเลย การจ้างโจทก์จึงเป็นการจ้างที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจได้รับยกเว้นมิต้องอยู่ภายใต้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที 16 มีนาคม 2515 ข้อ 14และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่16 เมษายน 2515 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลย
พิพากษาแก้เห็นว่า ให้ยกคำขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 68,100 บาทของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง

Share