คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเล่นการพนันสลากกินรวบนอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายอาญาแล้วยังเป็นบ่อเกิดแห่งอาชญากรรมและอาจทำให้บริษัทจำเลยได้รับความเสียหายทางชื่อเสียงการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวถึงแม้จะเป็นการกระทำผิดครั้งแรกก็เป็นกรณีร้ายแรงที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2531 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่ซ่อมบำรุง ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,139 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 28 ของเดือนต่อมาวันที 13 ธันวาคม 2537 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์เล่นการพนันสลากกินรวบเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2537 ซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและมิได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าตามกฎหมายเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันเกินกว่าสามปี ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 14,318บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 990,000 บาทค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 3,656 บาท และค่าชดเชย54,834 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง โดยเป็นตัวแทนรับซื้อสลากกินรวบจากพนักงานทั่วไปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2537 เวลาประมาณ 17.10 นาฬิกา จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุอันสมควรมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2537โจทก์เล่นการพนันสลากกินรวบโดยเป็นคนเดินโพยในที่ทำงานอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.4ในกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2537จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องใช้ค่าเสียหายค่าชดเชย เลิกจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า หากฟังว่าโจทก์กระทำความผิดจริงก็ไม่เป็นการกระทำผิดอันร้ายแรงที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ เพราะเป็นการกระทำความผิดครั้งแรกนั้น เห็นว่า การเล่นการพนันสลากกินรวบนอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายอาญาแล้วยังเป็นบ่อเกิดแห่งอาชญากรรม และอาจทำให้บริษัทจำเลยได้รับความเสียหายทางชื่อเสียงการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวถึงแม้จะเป็นการกระทำผิดครั้งแรกก็เป็นกรณีร้ายแรงที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้
พิพากษายืน

Share