คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ฉ้อฉล” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายว่า ใช้อุบายหลอกลวงโดยเอาความเท็จมากล่าวเพื่อให้เขาหลงผิด ดังนั้นข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ว่า จำเลยร้องไห้โอดครวญ ก้มลงกราบเท้าโจทก์ที่ 1 และพูดจาหว่านล้อมโจทก์ที่ 1 ให้ช่วยพูดขอร้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ให้ยกที่ดินพิพาทแก่จำเลย และจำเลยจะจ่ายเงิน 5,000,000 บาท เป็นค่าตอบแทน หากไม่ยอมทำตามจำเลยจะฆ่าตัวตายทันทีนั้น จึงมิใช่เป็นการฉ้อฉล โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ไม่อาจอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 มิได้เข้าร่วมไกล่เกลี่ยด้วย เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น ก็หาใช่เป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นละเมิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ จึงไม่เข้าเหตุหนึ่งเหตุใดตามข้อยกเว้นใน ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 มา และศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ ถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาปัญหาดังกล่าวต่อมาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง และให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาศาลชั้นต้นทำการไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาทแล้วปรากฏว่า คู่ความ ตกลงกันได้และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาล
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นค่าขึ้นศาลให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 อุทธรณ์ขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นอ้างว่า สัญญาประนีประนอมยอมความเกิดจากการฉ้อฉลของจำเลย โดยจำเลยร้องไห้โอดครวญ ก้มลงกราบเท้าโจทก์ที่ 1 และพูดจาหว่านล้อมโจทก์ที่ 1 ให้ช่วยขอร้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ให้ยกที่ดินพิพาทแก่จำเลย และจำเลยจะจ่ายเงิน 5,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งหกเป็นค่าตอบแทน หากไม่ยอมทำตามจำเลยจะฆ่าตัวตายทันที เห็นว่า คำว่า “ฉ้อฉล” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายว่า ใช้อุบายหลอกลวงโดยเอาความเท็จมากล่าวเพื่อให้เขาหลงผิด ดังนั้นข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการฉ้อฉล ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 มิได้เข้าร่วมไกล่เกลี่ยด้วย เป็น การขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น ก็หาใช่เป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นละเมิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 จึงไม่เข้าเหตุใดเหตุหนึ่งตามข้อยกเว้นในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง ที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 และศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ ถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาปัญหาดังกล่าวต่อมาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
พิพากษายกอุทธรณ์ ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 และยกฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share