คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5319/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ จำเลยเป็นลูกค้าโจทก์ ตามบัตรเครดิต 2 ประเภท คือ เพื่อซื้อสินค้าและชำระราคาค่าบริการต่าง ๆ แทนเงินสดประเภทหนึ่ง กับใช้เบิกเงินสดจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน หรือธนวัฎบัตรเครดิตอีกประเภทหนึ่ง การให้บริการบัตรเครดิตเป็นวัตถุประสงค์ ของโจทก์ การที่โจทก์ให้บริการใช้บัตรเครดิตแก่สมาชิกโดยเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำงานต่าง ๆ ให้แก่สมาชิก และการที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกไปก่อน รวมทั้งการที่โจทก์ยอมให้จำเลยนำบัตรเครดิตไปถอนเงินสดจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ แล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลัง เป็นการเรียกเอาค่าทดรองที่ได้ออกไปก่อน กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปก่อน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) โจทก์แจ้งให้จำเลยงดใช้บัตรเครดิตตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 และมีการแจ้งชำระหนี้ครั้งสุดท้าย ก่อนวันดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่ต้นปี 2535 มิใช่นับแต่วันที่คำบอกกล่าวเลิกสัญญา มีผล โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 9 สิงหาคม 2539 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ จำเลยเป็น ลูกค้าโจทก์ตามบัตรเครดิต ๒ ประเภท คือ เพื่อซื้อสินค้าและชำระค่าบริการต่าง ๆ แทนเงินสดประเภทหนึ่ง กับใช้ เบิกถอนเงินสดจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันหรือธนวัฎบัตรเครดิตอีกประเภทหนึ่ง มีวงเงินประเภทละ ๕๐,๐๐๐ บาท มีข้อตกลงกันว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดยอมให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปี หรืออัตราสูงสุด ที่ธนาคารพาณิชย์พึงเรียกเก็บจากลูกค้าได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและคิดทบต้นได้ จำเลยใช้บริการบัตรเครดิตทั้ง ๒ ประเภทหลายครั้งซึ่งโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตลอดมา ครั้นถึงกำหนดชำระจำเลยเพิกเฉย โจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยไม่ชำระ เมื่อคำนวณถึงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าวทวงถาม จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามธนวัฎบัตรเครดิตหรือ เบิกถอนเงินสดจำนวน ๗๑,๘๔๘.๗๑ บาท และค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าจำนวน ๒๔๒,๒๖๔.๒๕ บาท รวม ๒ ประเภท เป็นเงินจำนวน ๓๑๔,๑๑๒.๙๖ บาท เมื่อคำนวณดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี ตามประกาศของธนาคาร แห่งประเทศไทยถึงวันฟ้องคือวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๓๙ ประเภทธนวัฎบัตรเครดิต จำนวน ๑,๙๑๓.๓๔ บาท ส่วนประเภท ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าจำนวน ๖,๔๕๑.๕๓ บาท รวมยอดหนี้ทั้งสิ้นจำนวน ๓๒๒,๔๗๗.๘๓ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๓๒๒,๔๗๗.๘๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปีของต้นเงิน ๓๑๔,๑๑๒.๙๖ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่โจทก์ชำระแทนจำเลยให้แก่ร้านค้าและผู้ให้บริการเมื่อปี ๒๕๓๓ ถึง ๒๕๓๕ แต่โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๓๙ เกินกำหนด ๒ ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๓๒๒,๔๗๗.๘๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี ของต้นเงิน ๓๑๔,๑๑๒.๙๖ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ จำเลยเป็นลูกค้าโจทก์ตามบัตรเครดิต ๒ ประเภท คือ เพื่อซื้อสินค้าและชำระราคาค่าบริการต่าง ๆ แทนเงินสดประเภทหนึ่ง กับใช้เบิกเงินสดจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันหรือธนวัฎบัตรเครดิตอีกประเภทหนึ่ง มีวงเงินประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท มีข้อตกลงว่าโจทก์จะเป็นผู้ชำระเงินแทนจำเลยหรือจ่ายเงินให้จำเลยไปก่อน แล้วโจทก์จึงจะเรียกเก็บเงินจากจำเลย ในภายหลัง หลังจากทำสัญญาและรับบัตรเครดิตไปจากโจทก์แล้ว จำเลยได้ซื้อสินค้าและถอนเงินออกจากบัญชี หลายครั้งและมีการแจ้งยอดหนี้ให้จำเลยทราบเป็นรายเดือนแล้ววินิจฉัยว่า การให้บริการบัตรเครดิตเป็นวัตถุประสงค์ของโจทก์ การที่โจทก์ให้บริการการใช้บัตรเครดิตแก่สมาชิกโดยเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ในการรับทำงานต่าง ๆ ให้แก่สมาชิก และการที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกไปก่อน รวมทั้งการที่โจทก์ยอมให้จำเลยนำบัตรเครดิตไปถอนเงินสดจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ แล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลัง เป็นการเรียกเอาค่าทดรองที่ได้ออกไปก่อน กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปก่อนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ดังกล่าวจึงมีอายุความ ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๔ (๗) เมื่อทางนำสืบปรากฏว่าโจทก์แจ้งงดใช้บัตรเครดิตตั้งแต่วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ และมีการแจ้งให้ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายก่อนวันดังกล่าวนี้แล้ว โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๓๕ มิใช่วันที่คำบอกกล่าวเลิกสัญญามีผลดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ วินิจฉัย เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๓๙ พ้นกำหนด ๒ ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง.

Share