คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5316/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ขณะเกิดเหตุจะเป็นเวลากลางวันและผู้เสียหายเห็นคนร้ายอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน ผู้เสียหายมีโอกาสที่จะจำคนร้ายได้ แต่การจำคนร้ายได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลผู้ประสบเหตุนั้นด้วย จึงต้องดูพฤติการณ์อื่นประกอบด้วยว่าเพียงพอที่จะรับฟังว่าบุคคลนั้นจำคนร้ายได้หรือไม่ การที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีไม่ได้เกิดจากคำให้การของผู้เสียหาย แต่เป็นผลมาจากเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่อื่นจับจำเลยได้ในข้อหาปล้นทรัพย์ที่ป้ายรถยนต์โดยสารประจำทางเยื้องห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาลาดหญ้า จำเลยรับว่าได้ปล้นทรัพย์ในท้องที่ภาษีเจริญด้วย จึงมีการแจ้งมาที่สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ อ. พนักงานสอบสวนคดีนี้จึงไปถ่ายรูปจำเลยแล้วให้ผู้เสียหายดูภาพถ่ายดังกล่าว แทนที่จะใช้วิธีการชี้ตัวเพื่อพิสูจน์ว่าผู้เสียหายจำจำเลยได้หรือไม่การใช้วิธีให้ผู้เสียหายชี้ภาพถ่ายสมควรกระทำในกรณีที่ไม่อาจใช้วิธีการชี้ตัวบุคคลเนื่องด้วยเหตุผลพิเศษบางประการเช่น ยังจับตัวคนร้ายไม่ได้ เป็นต้น แต่ในกรณีปกติ ถ้าสามารถจัดให้พยานหรือผู้เสียหายชี้ตัวได้ ก็ไม่ควรใช้วิธีชี้ภาพถ่ายแทนเพราะไม่มีผลน่าเชื่อถือเท่ากับวิธีการให้ชี้ตัว เนื่องจากการชี้ตัวได้เห็นตัวบุคคลจริงย่อมมีความแน่นอนกว่า ทั้งต้องกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยและพยานอื่นอีกหลายคน ที่ อ. อ้างว่าการที่มิได้จัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลย เพราะต้องเบิกจำเลยมาที่สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญเป็นการยุ่งยาก ก็ปรากฏว่าการที่จะให้ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นเพราะจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยาห่างกันประมาณ 5 กิโลเมตรเท่านั้น ดังนั้น แม้ผู้เสียหายดูภาพถ่ายแล้วระบุว่าจำเลยคือคนร้ายที่ใช้มีดคัตเตอร์จี้และชกหน้าผู้เสียหาย ก็ยังยากที่จะรับฟังว่าจำเลยเป็นคนร้ายจริง ส่วนการที่ผู้เสียหายชี้จำเลยในศาลนั้นผู้เสียหายเห็นภาพถ่ายจำเลยมาแล้วและสภาพของจำเลยที่อยู่ในห้องพิจารณามีความแตกต่างจากผู้อื่นสามารถรู้ว่าบุคคลใดเป็นจำเลยได้ไม่ยาก ไม่อาจใช้พิสูจน์ว่าผู้เสียหายจำได้ว่าจำเลยคือคนร้าย เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดคดีนี้ จึงมีเหตุน่าสงสัยว่าหากจำเลยทำผิดคดีนี้ด้วย จำเลยก็น่าจะรับสารภาพต่อ อ. เช่นเดียวกับที่ให้การรับสารภาพต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยา พยานหลักฐานโจทก์ยังเป็นพิรุธน่าสงสัยว่าจำเลยอาจจะไม่ใช่คนร้ายที่ปล้นทรัพย์ผู้เสียหายก็ได้จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ปล้นไปเป็นเงินรวม 9,050 บาท แก่ผู้เสียหายและนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 5530/2538 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสอง จำเลยอายุ 18 ปี รู้สึกผิดชอบแล้ว ไม่สมควรลดมาตราส่วนโทษจำคุก 15 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท 1 เส้น พระเลี่ยมทองคำ1 องค์ และเงินสด 550 บาท รวมเป็นเงิน 9,050 บาท แก่เจ้าของ นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5530/2538 ของศาลชั้นต้น

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2538 เวลาประมาณ 13 นาฬิกา ขณะผู้เสียหายซึ่งแต่งกายในเครื่องแบบนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยยืนดูเพื่อนเล่นเกมไฟฟ้าอยู่ที่ชั้นที่ 2 ของห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์คบางแค มีชาย 3 คนเข้ามาพูดกับผู้เสียหายว่า รุ่นน้องของผู้เสียหายเอาของชายทั้งสามไป ขอให้ลงไปคุยกันที่ชั้นใต้ดิน เมื่อผู้เสียหายลงไปถึงชั้นที่ 1 พวกของชายทั้งสามประมาณ 5 คน เข้ามาขนาบข้างพาผู้เสียหายไปที่ป้ายรถยนต์โดยสารประจำทางตรงข้ามกับห้างสรรพสินค้าดังกล่าว จากนั้นชายคนหนึ่งชักมีดคัตเตอร์ออกมาจี้ผู้เสียหาย และชายอีกคนหนึ่งพูดว่าให้ผู้เสียหายใช้ของแทนรุ่นน้อง ผู้เสียหายยืนเฉย ชายคนแรกเก็บมีดคัตเตอร์แล้วชกผู้เสียหายที่แก้มซ้าย 1 ที่ ชายอีกคนเข้ามาจับตัวผู้เสียหายพาไปนั่งที่หน้าห้องแถวหลังป้ายรถยนต์โดยสารประจำทางจากนั้นชายอีกคนเข้ามาล็อกคอผู้เสียหายปลดเอาสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท ราคา 5,000 บาท พร้อมพระเลี่ยมทองคำ 1 องค์ ราคา 3,500 บาทไปแล้วคนร้ายอีกคนขอดูกระเป๋าธนบัตร ผู้เสียหายเกรงว่าคนร้ายจะเอาบัตรประชาชน บัตรประจำตัวนักเรียนและบัตรเอทีเอ็มในกระเป๋าธนบัตรไป จึงหยิบธนบัตรในกระเป๋าธนบัตรทั้งหมดจำนวน 550 บาท ส่งให้ ขณะนั้นมีรถยนต์โดยสารประจำทางแล่นมาจอดป้าย คนร้ายขึ้นรถยนต์โดยสารประจำทางหลบหนี หลังเกิดเหตุมารดาผู้เสียหายพาผู้เสียหายไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2538 จำเลยถูกจับในข้อหาปล้นทรัพย์ที่ป้ายรถยนต์โดยสารประจำทางเยื้องห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาลาดหญ้า เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยาแจ้งมาที่สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ ร้อยตำรวจโทโอภาสไปสอบปากคำจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดคดีนี้ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่เห็นว่าประจักษ์พยานโจทก์มีผู้เสียหายเพียงปากเดียว แม้ขณะเกิดเหตุจะเป็นเวลากลางวันและผู้เสียหายเห็นคนร้ายอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน ผู้เสียหายมีโอกาสที่จะจำคนร้ายได้ แต่การจำคนร้ายได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลผู้ประสพเหตุนั้นด้วย จึงต้องดูพฤติการณ์อื่นประกอบด้วยว่าเพียงพอที่จะรับฟังว่าบุคคลนั้นจำคนร้ายได้หรือไม่ คดีนี้ที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีไม่ได้เกิดจากคำให้การของผู้เสียหาย แต่เป็นผลมาจากเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่อื่นจับจำเลยได้ในข้อหาปล้นทรัพย์ที่ป้ายรถยนต์โดยสารประจำทางเยื้องห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาลาดหญ้า จำเลยรับว่า ได้ปล้นทรัพย์ในท้องที่ภาษีเจริญด้วย จึงแจ้งมาที่สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ ร้อยตำรวจโทโอภาสพนักงานสอบสวนคดีนี้จึงไปถ่ายรูปจำเลยตามภาพถ่ายหมาย จ.6 แล้วให้ผู้เสียหายมาดูภาพถ่ายดังกล่าว แทนที่จะใช้วิธีการชี้ตัวเพื่อพิสูจน์ว่าผู้เสียหายจำจำเลยได้หรือไม่ การใช้วิธีให้ผู้เสียหายชี้ภาพถ่ายสมควรกระทำในกรณีที่ไม่อาจใช้วิธีการชี้ตัวบุคคลเนื่องด้วยเหตุผลพิเศษบางประการ เช่น ยังจับตัวคนร้ายไม่ได้เป็นต้น แต่ในกรณีปกติ ถ้าสามารถจัดให้พยานหรือผู้เสียหายชี้ตัวได้ ก็ไม่ควรใช้วิธีการชี้ภาพถ่ายแทนเพราะไม่มีผลน่าเชื่อถือเท่ากับวิธีการให้ชี้ตัวเนื่องจากการชี้ตัวนั้นได้เห็นตัวบุคคลจริงย่อมมีความแน่นอนกว่า ทั้งต้องกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยและพยานอื่นอีกหลายคน ที่ร้อยตำรวจโทโอภาสอ้างว่าการที่มิได้จัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยเพราะต้องเบิกจำเลยมาสถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญเป็นการยุ่งยาก ก็ปรากฏว่าการที่จะให้ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นเพราะจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยาห่างกันประมาณ 5 กิโลเมตรเท่านั้น ดังนั้นแม้ผู้เสียหายดูภาพถ่ายหมาย จ.6 แล้วระบุว่าจำเลยคือคนร้ายที่ใช้มีดคัตเตอร์จี้และชกหน้าผู้เสียหาย ก็ยังยากที่จะรับฟังว่าจำเลยเป็นคนร้ายจริง ส่วนการที่ผู้เสียหายชี้จำเลยในศาลนั้น ผู้เสียหายเห็นภาพถ่ายจำเลยมาแล้วและสภาพของจำเลยที่อยู่ในห้องพิจารณามีความแตกต่างจากผู้อื่นสามารถรู้ว่าบุคคลใดเป็นจำเลยได้โดยไม่ยาก ไม่อาจใช้พิสูจน์ว่าผู้เสียหายจำได้ว่าจำเลยคือคนร้ายและร้อยตำรวจโทโอภาสเบิกความว่า เมื่อจำเลยถูกจับในข้อหาปล้นทรัพย์ที่ป้ายรถยนต์โดยสารประจำทางเยื้องห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาลาดหญ้า จำเลยรับว่าได้ปล้นทรัพย์ในท้องที่ภาษีเจริญด้วย เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยาจึงแจ้งมาที่สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ พยานไปสอบปากคำจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดคดีนี้จึงทำให้มีเหตุน่าสงสัยว่า หากจำเลยทำผิดคดีนี้ด้วยจำเลยก็น่าจะรับสารภาพต่อร้อยตำรวจโทโอภาสเช่นเดียวกับที่ให้การรับสารภาพต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยา พยานหลักฐานโจทก์ยังเป็นพิรุธน่าสงสัยว่าจำเลยอาจจะไม่ใช่คนร้ายที่ปล้นทรัพย์ผู้เสียหายก็ได้ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share