แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 2 ให้การตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่าโจทก์ที่ 2 ได้แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์โดยจ่ายค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งได้แสดงใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ดูแล้ว แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ที่ 2 ไม่มีสติ๊กเกอร์การอนุญาตให้ใช้สิขสิทธิ์ที่ตู้คาราโอเกะและยืนยันให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโจทก์ที่ 2 พร้อมกับยึดตู้คาราโอเกะพร้อมอุปกรณ์นั้นคงมีแต่คำให้การของประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองเพียงปากเดียวคือตัวโจทก์ที่ 2 ทั้งที่มีเจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมในครั้งนี้อีกหลายคนซึ่งถือเป็นคนกลางในคดีและไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดที่ร่วมรู้เห็นด้วย แต่โจทก์ทั้งสองก็ไม่นำพยานเหล่านั้นมาให้การหรือเบิกความสนับสนุนคำให้การของโจทก์ที่ 2 คำให้การของโจทก์ที่ 2 ในเรื่องดังกล่าวจึงมีน้ำหนักรับฟังน้อย นอกจากนี้ยังได้ความตามบันทึกการตรวจค้นจับกุม และบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่า โจทก์ที่ 2 ให้การับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ในบันทึกคำให้การผู้ต้องหาเพิ่มเติมซึ่งโจทก์ที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนเพิ่มเติมหลังเกิดเหตุถึง 4 เดือนเศษ ก็ไม่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 ได้ให้การว่าได้ชำระค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว พร้อมทั้งได้แสดงหลักฐานใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ตามที่ให้การในชั้นพิจารณาแต่อย่างใด คำให้การในชั้นพิจารณาของโจทก์ที่ 2 จึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือ ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 2 จะได้แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวโดยจ่ายค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์และได้แสดงใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 แล้ว แม้ตามใบนำฝากเงินซึ่งเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองจะปรากฏว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2546 ก่อนเกิดเหตุได้มีการนำเงินจำนวน 870 บาท ฝากเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 แล้ว แต่ใบนำฝากเงินดังกล่าวก็ไม่ปรากฏชื่อผู้นำฝากหรือหลักฐานที่แสดงว่าผู้นำฝากคือใคร กลับได้ความตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของ อ. พยานจำเลยทั้งสามว่า หลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 ได้ติดต่อขอหลักฐานใบเสร็จรับเงินการชำระค่าลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งชำระไปแล้วเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2546 จำเลยที่ 2 จึงจัดส่งใบเสร็จรับเงินและสติ๊กเกอร์ไปให้โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ได้นำหลักฐานที่ได้หลังเกิดเหตุไปต่อสู้ในคดีอาญาที่โจทก์ที่ 2 ถูกฟ้องว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ตามสำเนาคำพิพากษา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ทราบว่า โจทก์ที่ 1 ชำระค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์แล้วหลังวันเกิดเหตุที่โจทก์ที่ 2 ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 จำเลยทั้งสามไม่ทราบเรื่องที่โจทก์ที่ 1 ชำระค่าตอบแทนสิทธิให้แก่จำเลยที่ 2 ก่อนหน้านี้ ดังนี้ คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามปฏิบัติผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ที่มีต่อโจทก์ที่ 1 หรือกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง
คดีแพ่งที่จะถือว่าเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาต้องเป็นคดีแพ่งที่มีมูลมาจากคดีอาญาซึ่งโดยปกติหมายถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความรับผิดทางแพ่งและทางอาญา โดยอาศัยกฎเกณฑ์ความรับผิดเป็นทำนองเดียวกัน ในคดีนี้จำเลยทั้งสามจะรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ อยู่ที่ว่าจำเลยที่ 3 ตัวการโดยจำเลยที่ 2 และที่ 1 ตัวแทนปฏิบัติผิดสัญญาทางแพ่งคือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ที่ 1 หรือจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 ได้แสดงหลักฐานใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานตำรวจผู้เข้าตรวจสอบจับกุมทราบในวันเกิดเหตุหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ได้ทราบว่าโจทก์ที่ 1 ชำระค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์แล้วก่อนหรือหลังวันเกิดเหตุที่โจทก์ที่ 2 ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ส่วนในคดีอาญา โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวจะต้องรับผิดทางอาญาในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นหรือไม่ ถือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เป็นเกณฑ์ความผิดกล่าวคือ หากโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวมีสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แล้ว การเผยแพร่งานเพลงต่อสาธารณชนเพื่อการค้าก็ไม่เป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ความรับผิดของจำเลยทั้งสามในทางแพ่งตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องในคดีนี้จึงไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดต่อ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ ในคดีอาญาที่โจทก์ที่ 2 เป็นจำเลยดังกล่าว คดีนี้จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงหาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามาใช้ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 แต่อย่างใดไม่
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้จ้างวานหรือใช้หรือเชิดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนหรือลูกจ้างไปร้องทุกข์ให้เจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมโจทก์ที่ 2 ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 เพื่อการค้า โจทก์ที่ 2 แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์โดยจ่ายค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์แล้วพร้อมทั้งแสดงหลักฐานการชำระเงิน แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่าต้องมีสติ๊กเกอร์ติดไว้ข้างตู้ด้วย และชี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโจทก์ที่ 2 และยึดตู้คาราโอเกะพร้อมอุปกรณ์เป็นของกลาง อันเป็นการผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 744,192 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 เพื่อบรรเทาความเสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้ทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสอง ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองเรียกในฟ้องเป็นการกล่าวอ้างโดยเลื่อนลอยรับฟังไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติในชั้นนี้ตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันว่า โจทก์ที่ 1 ประกอบกิจการพาณิชย์ให้บริการฟังเพลง ให้ร้องเพลงคาราโอเกะ และขายอาหารเครื่องดื่ม ใช้ชื่อร้านว่า พรนครินทร์ คาราโอเกะ มีโจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างและเป็นผู้จัดการทำหน้าที่ดูแลร้าน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2546 เวลา 20.45 นาฬิกา ขณะโจทก์ที่ 2 ดูแลร้านซึ่งเปิดให้บริการ จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 และเพื่อรักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ 3 เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองกำกับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ แล้วนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมโจทก์ที่ 2 โดยกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์งานเพลง คนมันรัก ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 และยึดตู้คาราโอเกะพร้อมอุปกรณ์เป็นของกลาง โดยที่ตู้คาราโอเกะดังกล่าวไม่มีสติ๊กเกอร์ติดที่ข้างตู้ ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องโจทก์ที่ 2 ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2690/2546 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว มีคำพิพากษายกฟ้องและให้คืนของกลางแก่เจ้าของ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3301/2547 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองประการแรกว่า จำเลยทั้งสามปฏิบัติผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ที่มีต่อโจทก์ที่ 1 หรือกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ โจทก์ทั้งสองนำสืบโดยยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 ชี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโจทก์ที่ 2 ทั้งที่โจทก์ที่ 2 ได้แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่งานเพลงด้วยต่อสาธารณชน โดยจ่ายค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว พร้อมทั้งได้แสดงใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ดูแล้ว แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่มีสติ๊กเกอร์การอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ติดที่ตู้คาราโอเกะ ทั้งที่ควรกลับไปตรวจสอบหลักฐานการชำระค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ก่อน โจทก์ที่ 1 ได้ติดต่อขอรับสติ๊กเกอร์จากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนเกิดเหตุแล้ว แต่ได้รับแจ้งว่ายังส่งมาไม่ถึง การที่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 1 ตัวแทน ดำเนินการจับกุมโจทก์ที่ 2 จึงเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ที่ 1 ส่วนจำเลยทั้งสามนำสืบโดยยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของจำเลยที่ 1 ว่า ขณะจำเลยที่ 1 พาเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์และจับกุมโจทก์ที่ 2 ตู้คาราโอเกะในร้านไม่มีสติ๊กเกอร์ติดอยู่ โจทก์ที่ 2 แสดงตนเป็นผู้ดูแลร้านโดยไม่ได้บอกว่ามีบุคคลอื่นรวมทั้งโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของร้าน จำเลยที่ 1 สอบถามโจทก์ที่ 2 แล้ว โจทก์ที่ 2 ไม่มีหลักฐานใดๆ มาแสดงว่าได้มีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์แล้ว เห็นว่า ที่โจทก์ที่ 2 ให้การตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่าโจทก์ที่ 2 ได้แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวโดยจ่ายค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งได้แสดงใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ดูแล้ว แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ที่ 2 ไม่มีสติ๊กเกอร์การอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ที่ตู้คาราโอเกะและยืนยันให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโจทก์ที่ 2 พร้อมกับยึดตู้คาราโอเกะและอุปการณ์นั้น คงมีแต่คำให้การของประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองเพียงปากเดียวคือตัวโจทก์ที่ 2 ทั้งที่มีเจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมในครั้งนี้อีกหลายคนซึ่งถือเป็นคนกลางในคดีไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดที่ร่วมรู้เห็นด้วย แต่โจทก์ทั้งสองก็ไม่นำพยานเหล่านั้นมาให้การหรือเบิกความสนับสนุนคำให้การของโจทก์ที่ 2 คำให้การของโจทก์ที่ 2 ในเรื่องดังกล่าวจึงมีน้ำหนักรับฟังน้อย นอกจากนี้ยังได้ความตามบันทึกการตรวจค้นจับกุม และบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่า โจทก์ที่ 2 ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเพิ่มเติม ซึ่งโจทก์ที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนเพิ่มเติมหลังเกิดเหตุถึง 4 เดือนเศษ ก็ไม่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 ได้ให้การว่าได้ชำระค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว พร้อมทั้งได้แสดงหลักฐานใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ตามที่ให้การในชั้นพิจารณาแต่อย่างใด คำให้การในชั้นพิจารณาของโจทก์ที่ 2 จึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือ ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 2 จะได้แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวโดยจ่ายค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์และได้แสดงใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 แล้ว แม้จะปรากฏตามพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง คือ ใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2546 ก่อนเกิดเหตุได้มีการนำเงินจำนวน 870 บาท ฝากเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 แล้ว แต่ใบนำฝากเงินดังกล่าวก็ไม่ปรากฏชื่อผู้นำฝากหรือหลักฐานที่แสดงว่าผู้นำฝากคือใคร กลับได้ความตายบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนางสาวอลิสสรา กลิ่นนิล พยานจำเลยทั้งสามว่า หลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 ได้ติดต่อขอหลักฐานใบเสร็จรับเงินการชำระค่าลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งชำระไปแล้วเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2546 จำเลยที่ 6 จึงจัดส่งใบเสร็จรับเงินและสติ๊กเกอร์ไปให้โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ได้นำหลักฐานที่ได้หลังเกิดเหตุไปต่อสู้คดีในคดีอาญาที่โจทก์ที่ 2 ถูกฟ้องว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ตามสำเนาคำพิพากษา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ทราบว่าโจทก์ที่ 1 ชำระค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์แล้วหลังวันเกิดเหตุที่โจทก์ที่ 2 ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 จำเลยทั้งสามไม่ทราบเรื่องที่โจทก์ที่ 1 ชำระค่าตอบแทนสิทธิให้แก่จำเลยที่ 2 ก่อนหน้านี้ ดังนี้ คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสามปฏิบัติผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ที่มีต่อโจทก์ที่ 1 หรือกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองตามฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า คดีที่โจทก์ทั้งสองนำมาฟ้องนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3301/2547 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาดังกล่าวนั้น เห็นว่า คดีแพ่งที่จะถือว่าเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาต้องเป็นคดีแพ่งที่มีมูลมาจากคดีอาญาซึ่งโดยปกติหมายถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความรับผิดทางแพ่งและทางอาญาโดยอาศัยกฎเกณฑ์ความรับผิดเป็นทำนองเดียวกัน ในคดีนี้จำเลยทั้งสามจะรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ อยู่ที่ว่าจำเลยที่ 3 ตัวการโดยจำเลยที่ 2 และที่ 1 ตัวแทนปฏิบัติผิดสัญญาทางแพ่งคือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ที่ 1 หรือจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 ได้แสดงหลักฐานใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานตำรวจผู้เข้าตรวจสอบจับกุมทราบในวันเกิดเหตุหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ได้ทราบว่าโจทก์ที่ 1 ชำระค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์แล้วก่อนหรือหลังวันเกิดเหตุที่โจทก์ที่ 2 ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ส่วนในคดีอาญา โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวจะต้องรับผิดทางอาญาในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นหรือไม่ ถือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เป็นเกณฑ์ความผิดกล่าวคือ หากโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวมีสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แล้ว การเผยแพร่งานเพลงต่อสาธารณชนเพื่อการค้าก็ไม่เป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ความรับผิดของจำเลยทั้งสามในทางแพ่งตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องในคดีนี้จึงไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ในคดีอาญาที่โจทก์ที่ 2 เป็นจำเลยดังกล่าว คดีนี้จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงหาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามาใช้ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 แต่อย่างใดไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ก็ไม่ขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ทั้งสองอีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน