แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา7,72วรรคหนึ่งและการมีกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา55,78วรรคหนึ่งการที่กฎหมายบัญญัติความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตราย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์ที่จะแยกความผิด2ฐานนี้ออกจากกันทั้งวัตถุของกลางก็เป็นคนละประเภทแสดงว่าเจตนามีไว้แตกต่างกันและความผิดแต่ละประเภทสำเร็จแล้วนับแต่มีไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายฉะนั้นแม้จำเลยจะมีไว้ในวันเวลาเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนพกชนิดไทยประดิษฐ์ ไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ 1 กระบอก และมีกระสุนปืนขนาด .30 (คาร์บินส์) 1 นัด อันเป็นเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมายและเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครองของจำเลยอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยได้พาอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวไปในเมือง หมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 91, 371 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 55, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิวรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปีปรับ 2,000 บาท ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,000 บาทรวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุก8 เดือน (ที่ถูก 9 เดือน) ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ริบของกลางไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง(ที่ถูกมาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง) อีกกระทงหนึ่งจำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้แล้วเป็นจำคุก 1 ปี 9 เดือนไม่ปรับและไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีความผิดฐานมีกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เห็นว่าการมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง และการมีกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา 55, 78 วรรคหนึ่งการที่กฎหมายบัญญัติความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตรา ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่า มีความประสงค์ที่จะแยกความผิด 2 ฐานนี้ออกจากกันทั้งวัตถุของกลางก็เป็นคนละประเภท แสดงว่าเจตนามีไว้แตกต่างกัน และความแต่ละประเภทสำเร็จแล้วนับแต่มีไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฉะนั้นแม้จำเลยจะมีไว้ในวันเวลาเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามาชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืนให้วางโทษปรับกระทงละ 2,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับกระทงละ1,000 บาท รวมปรับ 2,000 บาท เมื่อรวมกับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว คงจำคุก 1 ปี 9 เดือน ปรับ 2,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี โดยคุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี และให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน จนกว่าจะครบกำหนดการคุมประพฤติ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1