แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายรู้จักจำเลย เคยพูดกับจำเลย จำเลยเคยมาขอน้ำดื่มที่บ้านพักผู้เสียหาย และนับแต่จำเลยเข้ามารัดคอผู้เสียหายจนกระทั่งลากคอไปบริเวณลานข้าวเปลือกแล้วเดินหนีใช้เวลาประมาณ 20 นาที อันเป็นระยะเวลานานพอที่ผู้เสียหายจะจำหน้าจำเลยได้เพราะจำเลยได้กระทำผิดในลักษณะประชิดตัวผู้เสียหายโดยตลอดแม้ผู้เสียหายเป็นคนสายตาสั้นต้องสวมแว่นตาก็หาเป็นเหตุให้ผู้เสียหายจำจำเลยผิดคนไปได้ไม่ ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยได้พูดขู่มิให้ผู้เสียหายส่งเสียงดังมิฉะนั้นจะใช้มีดแทง ย่อมทำให้ผู้เสียหายจำเสียงพูดของจำเลยได้ และตอนผู้เสียหายไปแจ้งความก็ระบุว่ารู้จักตัวจำเลยโดยเป็นคนงานเก็บขยะของสุขาภิบาลอำเภอโพธิ์ทอง กับได้บอกลักษณะรูปร่างของจำเลยว่ารูปร่างเตี้ย นอกจากนี้เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจนำตัวจำเลยกับพวกรวม5 คน ซึ่งเป็นคนงานเก็บขยะไปให้ผู้เสียหายชี้ตัว ผู้เสียหายก็ชี้ว่าจำเลยเป็นคนที่ทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ลังเลใจ เมื่อผู้เสียหายไม่มีสาเหตุกับจำเลยจึงไม่มีเหตุจะระแวงว่าผู้เสียหายกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยให้ได้รับโทษแต่อย่างใด ส่วนเรื่องที่ผู้เสียหายอ้างว่าจำเลยยอมรับผิดและจะให้ค่าเสียหายจำนวน 20,000 บาท นั้น แม้พยานโจทก์จะเบิกความไม่ตรงกับผู้เสียหายก็ไม่เป็นข้อสาระสำคัญ เพราะการเจรจาจะชดใช้ค่าเสียหายให้นั้นเป็นเรื่องที่คู่กรณีพยายามจะออมชอมให้ยุติโดยความพอใจของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่กระทำความผิดตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 364, 365(3), 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 364, 365(3) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานบุกรุกจำคุก 2 ปี ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า วันเกิดเหตุมีคนร้ายบุกรุกเข้าไปที่ใต้ถุนบ้านพักของนางรวีวรรณ โกสัยสุข ผู้เสียหาย แล้วใช้แขนรัดคอชกท้องและใบหน้าผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กายตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาในวันรุ่งขึ้นเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ชั้นจับกุมจำเลยให้การปฏิเสธตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.3 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนางรวีวรรณผู้เสียหายเบิกความว่า ผู้เสียหายรู้จักจำเลยก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 เดือน จำเลยเป็นคนงานเก็บขยะของสุขาภิบาลอำเภอโพธิ์ทอง เคยพูดกับจำเลย และจำเลยเคยมาขอน้ำดื่มที่บ้านผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายไม่ยอมเปิดประตูให้จำเลยเข้าบ้าน วันเกิดเหตุเวลา20.30 นาฬิกา ผู้เสียหายถีบรถจักรยานเข้าบ้านขณะอยู่ใต้ถุนบ้านและผู้เสียหายยังนั่งคร่อมอยู่บนรถจักรยาน จำเลยเข้ามาทางด้านหลังแล้วใช้แขนขวารัดคอผู้เสียหายและใช้มือซ้ายชกต่อยที่ท้อง จากนั้นได้ลากตัวผู้เสียหายลงจากรถ ผู้เสียหายล้มนอนหงายที่พื้น จำเลยนั่งคร่อมตัวผู้เสียหายแล้วชกตามตัวและใบหน้า และบอกไม่ให้ผู้เสียหายส่งเสียง มิฉะนั้นจะเอามีดแทง จำเลยพยายามลากผู้เสียหายไปบริเวณลานตากข้าวเปลือกซึ่งอยู่ข้างบ้านพัก ตอนที่ลากตัวไปนั้นจำเลยใช้แขนรัดคอผู้เสียหายไว้ด้วย ผู้เสียหายหายใจไม่ออกจึงบอกให้จำเลยคลายแขน เมื่อจำเลยคลายแขนผู้เสียหายจะวิ่งหนีแต่ถูกจำเลยตบจนคว่ำ ผู้เสียหายต้องแกล้งนอนเฉย ๆ จำเลยยืนดูพักหนึ่งแล้วเดินหนี หลังเกิดเหตุผู้เสียหายไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอโพธิ์ทองโดยบอกว่า คนร้ายทำงานเก็บขยะของสุขาภิบาลอำเภอโพธิ์ทองและลักษณะรูปร่างเตี้ยต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ และนำไปให้ผู้เสียหายดูตัว ผู้เสียหายดูแล้วยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย ร้อยตำรวจตรีอมร ขุนแก้ว พยานโจทก์ผู้จับกุมเบิกความว่า พนักงานสอบสวนสั่งให้พยานนำจำเลยกับพวกรวม 5 คน ไปให้ผู้เสียหายดูตัวที่โรงพยาบาลอ่างทองเวชการซึ่งผู้เสียหายรักษาตัวอยู่ เมื่อผู้เสียหายเห็นหน้าจำเลยก็ชี้ตัวระบุว่าเป็นคนทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยทันทีโดยไม่ลังเลใจ ร้อยตำรวจโทสมศักดิ์ดาวสุข พนักงานสอบสวนเบิกความว่า หลังเกิดเหตุผู้เสียหายมาแจ้งต่อพยานว่า ถูกทำร้ายร่างกายโดยระบุชื่อจำเลยว่าเป็นคนร้ายและแจ้งว่าจำเลยเป็นคนงานเก็บขยะของสุขาภิบาลอำเภอโพธิ์ทอง และตอนที่เจ้าพนักงานตำรวจนำตัวจำเลยกับพวกซึ่งเป็นคนงานเก็บขยะไปให้ผู้เสียหายดูตัวที่ห้องพักในโรงพยาบาล ผู้เสียหายก็ชี้ตัวระบุว่าจำเลยเป็นคนทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ลังเลใจ เห็นว่า ที่ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ทำร้ายผู้เสียหายโดยจำหน้าจำเลยได้ไม่ผิดตัวนั้น มีเหตุผลน่ารับฟังเพราะก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายรู้จักจำเลย เคยพูดกับจำเลย จำเลยเคยมาขอน้ำดื่มที่บ้านพักผู้เสียหายและนับแต่จำเลยเข้ามารัดคอผู้เสียหายจนกระทั่งลากคอไปบริเวณลานข้าวเปลือกแล้วเดินหนีใช้เวลาประมาณ 20 นาที อันเป็นระยะเวลานานพอที่ผู้เสียหายจะจำหน้าจำเลยได้ เพราะจำเลยได้กระทำผิดในลักษณะประชิดตัวผู้เสียหายโดยตลอดแม้จะได้ความว่าผู้เสียหายเป็นคนสายตาสั้นต้องสวมแว่นตาก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้ผู้เสียหายจำจำเลยผิดคนไปได้ไม่ ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยได้พูดขู่มิให้ผู้เสียหายส่งเสียงดัง มิฉะนั้นจะใช้มีดแทง ย่อมทำให้ผู้เสียหายจำเสียงพูดของจำเลยได้ และตอนผู้เสียหายไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจก็ระบุว่ารู้จักตัวจำเลย จำเลยเป็นคนงานเก็บขยะของสุขาภิบาลอำเภอโพธิ์ทอง กับได้บอกลักษณะรูปร่างของจำเลยด้วยว่ารูปร่างเตี้ย นอกจากนี้เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจนำตัวจำเลยกับพวกรวม 5 คน ซึ่งเป็นคนงานเก็บขยะของสุขาภิบาลอำเภอโพธิ์ทองไปให้ผู้เสียหายชี้ตัวที่โรงพยาบาลซึ่งผู้เสียหายรักษาตัวอยู่ ผู้เสียหายก็ชี้ว่าจำเลยเป็นคนที่ทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ลังเลใจ ซึ่งร้อยตำรวจโทสมศักดิ์พยานโจทก์เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการแสดงว่าผู้เสียหายแน่ใจว่าจำเลยเป็นคนร้ายจึงได้ชี้ตัวโดยไม่ลังเลใจ ผู้เสียหายไม่มีสาเหตุกับจำเลยจึงไม่มีเหตุจะระแวงว่าผู้เสียหายกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยให้ได้รับโทษแต่อย่างใด ส่วนเรื่องที่ผู้เสียหายอ้างว่าจำเลยยอมรับผิดและจะให้ค่าเสียหายจำนวน 20,000 บาท นั้น แม้พยานโจทก์จะเบิกความไม่ตรงกับผู้เสียหายก็ไม่เป็นข้อสาระสำคัญ เพราะการเจรจาจะชดใช้ค่าเสียหายให้นั้นเป็นเรื่องที่คู่กรณีพยายามจะออมชอมให้เรื่องยุติโดยความพอใจของทั้งสองฝ่ายเท่านั้นพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่กระทำความผิดตามฟ้อง พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านพักผู้เสียหายแล้วทำร้ายผู้เสียหายทันทีนั้นเป็นการกระทำต่อเนื่องในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ศาลฎีกายกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้”
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295,365(3) ประกอบมาตรา 364 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 365(3) ประกอบมาตรา 364 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี