คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินค่าล่วงเวลาโจทก์มีคำขอให้จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ15ทุกระยะเวลาเจ็ดวันนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จซึ่งเป็นการขอให้บังคับจำเลยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ31วรรคสองประเด็นในคดีย่อมต้องเกิดจากคำฟ้องและคำให้การเมื่อโจทก์มิได้กล่าวในฟ้องถึงเรื่องดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปีซึ่งกำหนดไว้ในประกาศดังกล่าวข้อ31วรรคหนึ่งแม้ศาลแรงงานกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่าจำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาและดอกเบี้ยหรือไม่เพียงใดก็เป็นการกำหนดประเด็นที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้องการกำหนดประเด็นส่วนของดอกเบี้ยจึงเป็นการไม่ชอบแม้ศาลแรงงานวินิจฉัยให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ก็ต้องถือว่าวินิจฉัยในเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา52ที่บัญญัติว่าห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้องเว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้จึงเห็นได้ว่าโดยหลักแล้วจะสั่งเช่นนั้นไม่ได้นอกจากจะเข้าข้อยกเว้นแต่ในคำพิพากษาศาลแรงงานก็มิได้กล่าวว่ามีเหตุสมควรอย่างไรจึงให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยดังกล่าวแก่โจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลประกอบกิจการร่วมค้าใช้ชื่อจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 20เมษายน 2535 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยทั้งสี่ครั้งสุดท้ายได้รับค่าจ้างเดือนละ 36,000 บาท ต่อมาวันที่31 กรกฎาคม 2537 จำเลยทั้งสี่เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมจึงขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย คิดเป็นเงิน 144,000 บาทนอกจากนี้ระหว่าง วันที่ 1 มกราคม 2537 ถึงวันที่ 31กรกฎาคม 2537 จำเลยทั้งสี่สั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาทำงานตามปกติออกไปอีกวันละ 3 ชั่วโมง รวมโจทก์ทำงานล่วงเวลาสัปดาห์ละ 18 ชั่วโมง คิดเป็นค่าล่วงเวลาทั้งสิ้นเป็นเงิน124,200 บาท จึงขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวกับเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสิบห้าทุกระยะเวลาเจ็ดวันนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระเงินเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้เป็นนายจ้างโจทก์ แต่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 แต่ผู้เดียวจำเลยที่ 4 เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากสภาพงานที่โจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเสร็จสิ้นเรียบร้อย จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมจำเลยที่ 4 ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ ส่วนค่าล่วงเวลาที่โจทก์ฟ้องมาจำเลยที่ 4 ไม่ต้องจ่ายให้ เนื่องจากโจทก์เป็นหัวหน้างานมีอำนาจหน้าที่กระทำการแทนนายจ้างในกรณีการจ้างการลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จ การลงโทษ หรือการกำหนดวันหยุด วันลา ให้แก่คนงาน ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังนี้
ข้อ 1. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นนายจ้างโจทก์หรือไม่
ข้อ 2 จำเลยเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่
ข้อ 3. จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหาย ค่าล่วงเวลาและดอกเบี้ยหรือไม่ เพียงใด
ต่อมาโจทก์ จำเลย แถลงสละประเด็นข้อพิพาทข้อ 2. เรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และประเด็นข้อ 3. เรื่องค่าเสียหายตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 31 มีนาคม 2538
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามประเด็นข้อ 1 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นนายจ้างโจทก์ สำหรับประเด็นข้อ 3 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ไม่ได้เป็นพนักงานในระดับบังคับบัญชาหรือหัวหน้างาน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำงานแทนจำเลยสำหรับกรณีการจ้าง การลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง และการลงโทษโจทก์ทำงานเกินกว่าเวลาทำงานตามปกติสัปดาห์ละ 18 ชั่วโมง แต่โจทก์เบิกความว่า วันปีใหม่โจทก์ไม่ได้มาทำงาน 2 วัน และในเดือนเมษายนโจทก์ไม่ได้มาทำงาน 3 วัน ทำให้ยอดเงินตามฟ้องในส่วนนี้ลดลงจำนวน 2,700 บาท ส่วนที่โจทก์ขอเป็นเงินเพิ่มมาในอัตราร้อยละสิบห้าทุกระยะเวลาเจ็ดวัน เห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยจงใจผิดนัดไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มให้โจทก์ แต่จำเลยต้องจ่ายดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าล่วงเวลาให้โจทก์จำนวน121,500 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะชำระเงินเสร็จสิ้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินค่าล่วงเวลา โจทก์มีคำขอให้จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะเวลาเจ็ดวันนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จซึ่งเป็นการขอให้บังคับจำเลยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 วรรคสองแม้ว่าศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทในประเด็นข้อ 3 ว่าจำเลยต้องจ่ายค่าเสียหาย ค่าล่วงเวลา และดอกเบี้ยหรือไม่เพียงใด ต่อมาโจทก์จำเลยแถลงขอสละประเด็นข้อ 3 เรื่องค่าเสียหายคงเหลือประเด็นค่าล่วงเวลาและดอกเบี้ย โดยจำเลยมิได้คัดค้านการกำหนดประเด็นดังกล่าว แต่ประเด็นในคดีย่อมต้องเกิดจากคำฟ้องและคำให้การ เมื่อโจทก์มิได้กล่าวในฟ้องถึงเรื่องดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี ซึ่งกำหนดไว้ในประกาศดังกล่าวข้อ 31 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการกำหนดประเด็นที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้อง ถือว่าการกำหนดประเด็นส่วนของดอกเบี้ยเป็นการไม่ชอบ แม้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ ก็ต้องถือว่าวินิจฉัยในเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลแรงกลางและตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้” จะเห็นว่าโดยหลักแล้วจะสั่งเช่นนั้นไม่ได้ นอกจากจะเข้าข้อยกเว้น แต่ในคำพิพากษาศาลแรงงานกลางก็มิได้กล่าวว่ามีเหตุสมควรอย่างไร จึงให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยดังกล่าวแก่โจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีจากเงินค่าล่วงเวลาที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share