คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5301/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

วัตถุประสงค์พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ฯพ.ศ.2516ก็เพื่อประโยชน์ของรัฐในการสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำสำหรับกรุงเทพมหานครจำเลยที่1มีหน้าที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการทำให้มีและการบำรุงรักษาทางบกทางน้ำและทางระบายน้ำโดยมีจำเลยที่2เป็นผู้แทนซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการทั้งปวงของจำเลยที่1การดำเนินการของจำเลยที่2ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนฯดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกิจการของจำเลยที่1โจทก์ในฐานะผู้ถูกเวนคืนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่1ได้ การที่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการกำหนดค่าทดแทนภายในเวลาอันสมควรแก่โจทก์ปล่อยระยะเวลามาเนิ่นนานกว่า20ปีเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและทำให้โจทก์ขาดโอกาสที่จะนำเอาเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่มีราคาใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไม่มากนักได้เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ดังนั้นการที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา21วรรคหนึ่ง(1)ถึง(4)โดยเอาราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประกอบราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ประกอบราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประกอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ในปีที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ฯพ.ศ.2511อย่างกรณีปกติย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ต้องใช้วันที่เดิมฐานที่ตั้งสำหรับราคาอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนจากวันใช้พระราชกฤษฎีกาเป็นปีที่2531อันเป็นปีที่มีการเริ่มดำเนินการเพื่อจ่ายค่าทดแทนใหม่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา21วรรคสองและวรรคสามเป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์และในวรรคนี้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้นเพื่อนำมาหักออกจากเงินค่าทดแทนให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาแม้ขณะเวนคืนที่ดินของโจทก์ถึงศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวออกมาใช้บังคับก็ไม่ใช่กรณีที่จะทำให้หลักการตามมาตรา21วรรคสองและวรรคสามใช้ไม่ได้ฉะนั้นเมื่อปรากฎว่าที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้นเพราะการเวนคืนแล้วก็ย่อมนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 และผู้ว่าราชการจำเลยที่ 2 ให้ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนจำนวน17,586,534.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปีจากเงิน 16,899,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนจำนวน10,367,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 เมษายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
โจทก์ และ จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ และ จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาในข้อนี้ว่า พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516ระบุให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะให้การเวนคืนเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแยกต่างหากจากจำเลยที่ 2ทั้งมิได้เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้กำหนดค่าทดแทนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่หากกฎหมายเวนคืนประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบด้วยก็จะต้องระบุชื่อจำเลยที่ 1 ไว้ เมื่อไม่ได้ระบุไว้ก็แสดงว่ากฎหมายไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของรัฐในการสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำสำหรับกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1ในการดำเนินกิจการเกี่ยวกับการทำให้มีและการบำรุงรักษาทางบกทางน้ำและทางระบายน้ำตามมาตรา 66(2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และตามมาตรา 12ประกอบมาตรา 19 ของพระราชบัญญัตินี้ บัญญัติให้จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการทั้งปวงของจำเลยที่ 1 ดังนั้น การดำเนินการของจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนดังกล่าวเป็นการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 นั่นเอง เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1นั้น ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองมีว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินให้โจทก์ในราคาตารางวาละ 45,000 บาท เป็นธรรมหรือไม่ โจทก์ฎีกาในข้อนี้โดยสรุปว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 9226 ของโจทก์มีราคาโดยเฉลี่ยในปี 2534 ตารางวาละ 58,142.86 บาท แต่โจทก์ขอเรียกเพียงตารางวาละ 50,000 บาท ส่วนจำเลยทั้งสองฎีกาในข้อนี้ว่าที่ดินของโจทก์มีสภาพเป็นที่อยู่อาศัยไม่ใช่ทำเลการค้า ตั้งอยู่ลึกสุดซอยไม่ติดถนนสาธารณะด้านที่อยู่ติดคลองไม่สามารถใช้เป็นทางสัญจรได้ รอบที่ดินทั้งสี่ด้านไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้โดยตรง ส่วนที่ดินโฉนด 42946, 23825 และ 42947 อยู่ติดทางสาธารณะโดยตรงซึ่งต่างกับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 2 กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์โดยยึดราคาประเมินตามเอกสารหมาย จ.34 ถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว เห็นว่า การเวนคืนที่ดินของโจทก์ในคดีนี้ เป็นการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ ตำบลสีลม อำเภอบางรักและตำบลยานนาวา ตำบลทุ่งมหาเมฆ ตำบลทุ่งวัดดอน ตำบลช่องนนทรีอำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร พ.ศ. 2511 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ และแขวงสีลม เขตบางรักและแขวงยานนาวา แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 แต่ภายหลังจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้ว การดำเนินการในเรื่องค่าทดแทนที่ดินและต้นไม้ของโจทก์ก็ยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้นการดำเนินการต่อไปในเรื่องนี้จึงต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่แก้ไขแล้ว ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 36 วรรคสอง และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ข้อ 4 วรรคหนึ่ง และเนื่องจากพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นการเฉพาะการกำหนดเงินค่าทดแทนจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติ มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งบัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งว่าเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้น ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้วให้กำหนดโดยคำนึงถึง (1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6(2)ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ (3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้นและ (5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมมาตรา 21 วรรคหนึ่ง นี้ ให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืน ในกรณีปกติแล้วการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) นั้น ย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม สำหรับคดีนี้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ ตำบลสีลม อำเภอบางรักและตำบลยานนาวา ตำบลทุ่งมหาเมฆ ตำบลทุ่งวัดดอน ตำบลช่องนนทรีอำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร พ.ศ. 2511 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2511 แล้ว แต่กลับปรากฎว่าฝ่ายจำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 แจ้งราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย จ.1 การที่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการกำหนดค่าทดแทนภายในเวลาอันควรแก่โจทก์ปล่อยระยะเวลามาเนิ่นนานกว่า20 ปี เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และทำให้โจทก์ขาดโอกาสที่จะนำเอาเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่มีราคาใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไม่มากนักได้ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ดังนั้นการที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โดยคำนึงถึงมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง(4) คือ ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประกอบราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ประกอบราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประกอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ในปีที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอย่างกรณีปกติย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ยอมรับว่าการกำหนดค่าทดแทนตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงได้กำหนดให้ใช้ราคาค่าทดแทนตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2531-2534 อย่างไรก็ตามสำหรับคดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่าคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นชุดที่ทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนนั้นได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่22 มกราคม 2531 หลังจากนั้นคณะกรรมการชุดนี้จึงได้ประชุมกันเพื่อกำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอันเนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 และฝ่ายจำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 แจ้งราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทราบการดำเนินการเพื่อจ่ายเงินค่าทดแทนในกรณีนี้เพิ่งเริ่มต้นใหม่ในปี2531 ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1)ถึง (5) เว้นแต่วันที่เป็นฐานที่ตั้งสำหรับราคาอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนจากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นปี 2531 อันเป็นปีที่มีการเริ่มดำเนินการเพื่อจ่ายค่าทดแทนใหม่ และนำราคาที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนซื้อขายกันเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2528 ราคา ตารางวาละ 35,000 บาทซึ่งโจทก์นำสืบว่าเป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติใน ท้องตลาดมาเปรียบเทียบกับบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531-2534 ที่ดินแปลงดังกล่าวมีราคาประเมินฯ ในปี 2528 ตารางวาละ 10,000 บาท อัตราส่วนราคาประเมินฯ ต่อราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดจึงเท่ากับ10,000 ต่อ 35,000 ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2531-2534 อัตราเฉลี่ยตารางวาละ 12,961.16 บาท เมื่อนำอัตราส่วนดังกล่าวมาเปรียบเทียบแล้วราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดจะเท่ากับตารางวาละ 45,364.06 บาท ซึ่งใกล้เคียงอย่างยิ่งกับราคาที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 45,000 บาท จึงเห็นได้ว่า หลักเกณฑ์วิธีการและจำนวนค่าทดแทนที่ดินที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แก่โจทก์นั้นเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมซึ่งชอบด้วยความมุ่งหมายหลักของมาตรา 21 วรรคหนึ่ง แล้วที่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสี่ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่คิดคำนวณราคาที่สูงขึ้นเพื่อนำมาหักออกจากเงินค่าทดแทนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาแต่ขณะเวนคืนที่ดินของโจทก์จนถึงศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวออกมาบังคับใช้ จำเลยทั้งสองจึงจะนำเอาค่าที่ดินที่สูงขึ้นมาหักจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ควรจะได้รับไม่ได้นั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืน ได้กระทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้น ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนและวรรคสามบัญญัติว่า ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย มาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามนี้เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นแล้วหากไม่นำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน ก็จะทำให้ผู้ถูกเวนคืนได้รับผลประโยชน์จากการเวนคืนแต่ฝ่ายเดียว ในทางตรงกันข้ามหากอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงแล้วหากผู้ถูกเวนคืนไม่ได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญของมาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่ให้กำหนดค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่ นั้นเป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 วรรคหนึ่ง เท่านั้นแม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้วตามมาตรา 21 วรรคสี่ก็ไม่ใช่กรณีที่จะทำให้หลักการตามมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามใช้ไม่ได้หากปรากฎชัดว่าที่ดินในส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้นเพราะการเวนคืนแล้วจำเลยทั้งสองและศาลย่อมนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับได้ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองมีว่าการเวนคืนที่ดินตามฟ้อง ทำให้ราคาที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นหรือไม่เพียงไร ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจึงมีราคาที่สูงขึ้นไม่น้อยกว่าตารางวาละ 45,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ที่ดินส่วนนี้มีราคาตารางวาละ 62,000 บาท ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยทั้งเห็นควรให้เอาราคาที่สูงขึ้นตารางวาละ 45,000 บาท มาหักออกจากค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ในส่วนที่ถูกเวนคืนที่ดินของโจทก์ในส่วนที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 309 ตารางวา ตารางวาละ 45,000 บาทคิดเป็นเงินค่าทดแทนจำนวน 13,905,000 บาท ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 211 ตารางวา มีราคาสูงขึ้นตารางวาละ 45,000 บาทคิดเป็นเงิน 9,495,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายค่าทดแทนในส่วนนี้ให้แก่โจทก์จำนวน 4,410,000 บาท”
พิพากษาแก้ เป็น ว่า ให้ จำเลย ทั้ง สอง ชำระ เงิน ค่าทดแทน จำนวน4,459,000 บาท พร้อม ดอกเบี้ย อัตรา สูงสุด ของ ดอกเบี้ย เงินฝาก ประเภทฝาก ประจำ ของ ธนาคารออมสิน แต่ ไม่เกิน อัตรา ร้อยละ 12.50 ต่อ ปีนับแต่ วันที่ 28 เมษายน 2534 เป็นต้น ไป จนกว่า จะ ชำระ เสร็จให้ แก่ โจทก์ นอกจาก ที่ แก้ คง ให้ เป็น ไป ตาม คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์

Share