แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าของร่วมตกลงแบ่งแยกโฉนดกัน ตกลงกำหนดลงไปว่าใครได้ตรงไหนแน่ เช่นนี้ย่อมเป็นการระงับข้อพิพาทอันจะมีขึ้นให้เสร็จไปจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา850
ข้อตกลงที่เจ้าของร่วมคนหนึ่งยอมให้ เจ้าของร่วมอีกคนหนึ่งผ่านที่ ที่ตนได้รับในการแบ่งแยกนั้น ก็ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการตกลงแบ่งแยกโฉนดดังกล่าวเมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือ ก็ย่อมจะนำมาฟ้องร้องให้บังคับหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยตกลงแบ่งที่ดินกัน โจทก์ได้ทางตะวันตกจำเลยได้ทางตะวันออก โดยตกลงกันด้วยว่า จำเลยยอมให้โจทก์ใช้ทางเดินผ่านที่ดินด้านตะวันออก ไปออกตรอกได้ บัดนี้จำเลยปิดทางนี้จึงขอให้จำเลยเปิดประตูรั้ว ซึ่งโจทก์เคยใช้เป็นทางเดินผ่านและให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมให้โจทก์ตามข้อตกลง
จำเลยปฏิเสธว่า ไม่เคยตกลงจะไปจดทะเบียนภารจำยอม
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อตกลงไม่ได้ทำเป็นหนังสือ จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การตกลงแบ่งแยกที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยรายนี้ถือได้ว่าเป็นการแบ่งส่วนที่โจทก์และทายาทของนายชาญเป็นเจ้าของร่วมกัน การตกลงแบ่งแยกโฉนดซึ่งโจทก์จำเลยเป็นเจ้าของร่วมอันมีส่วนพัวกันซึ่งตกลงกำหนดลงไปว่า ใครได้ตรงไหนแน่ เช่นนี้ ย่อมเป็นการระงับข้อพิพาทอันจะมีขึ้นให้เสร็จไป จึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ซึ่งบังคับว่า ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ สำหรับข้อตกลงที่ยอมให้โจทก์ทางเดินรายนี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงแบ่งแยกโฉนดดังกล่าวนั่นเองเมื่อมิได้ทำหนังสือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ก็จะฟ้องร้องขอให้บังคับหาได้ไม่ ฯลฯ
จึงพิพากษายืน