แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องห้างฯ น.ผู้เอาประกันภัยเป็นจำเลยด้วยแต่เมื่อได้ความว่าผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดแล้ว จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนก็ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน เพราะโจทก์ชอบจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยได้โดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 โจทก์ที่ 9 ที่ 10 ฟ้องจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนให้รับผิดโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัย จึงมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคแรกจะนำอายุความ 1 ปี ตาม มาตรา 448 วรรคแรก มาบังคับไม่ได้ จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2ถึงที่ 10 รวม ๆ กันมาโดยไม่ใช่ค่าเสียหายที่แท้จริง จำเลยที่ 3ไม่ได้ยกเหตุขึ้นอ้างอิงว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ถูกต้องด้วยเหตุใดและค่าเสียหายที่แท้จริงของโจทก์แต่ละคนควรจะเป็นเท่าใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งเก้าสำนวนฟ้องว่า นายชัยรัตน์ลูกจ้างของจำเลยที่ 1ที่ 2 ขับรถบรรทุกสิบล้อในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสิบ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องสำหรับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 9 และที่ 10 และนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 8
จำเลยทั้งสามรวมเก้าสำนวนให้การใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองรถโดยสารปรับอากาศและโจทก์ที่ 2 ไม่ใช่ลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 3 ไม่ได้รับประกันภัยรถบรรทุกสิบล้อไว้จากจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 3จะรับผิดต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดเท่านั้นเหตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความประมาทของนายชัยรัตน์ แต่เป็นความประมาทของโจทก์ที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5ที่ 6 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 เป็นเงินคนละ 50,000 บาท โจทก์ที่ 7เป็นเงิน 4,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีสำหรับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 9 ที่ 10 นับแต่วันฟ้อง ส่วนโจทก์ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2527จนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 3 ทั้งเก้าสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ใช้เงินแก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 คนละ30,940.55 บาท และโจทก์ที่ 7 เป็นเงิน 2,475.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 9 ที่ 10ให้นับแต่วันฟ้อง ส่วนโจทก์ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ให้นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2527 จนกว่าชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 10 ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์
จำเลยที่ 3 ทั้งเก้าสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า รถบรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดนิวขนส่ง ซึ่งจดทะเบียนและมีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานครมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 วันเกิดเหตุนายชัยรัตน์คนขับรถบรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดนิวขนส่งได้ขับรถบรรทุกข้าวสารจากจังหวัดสกลนครจะมากรุงเทพมหานครตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จึงต้องถือว่านายชัยรัตน์ได้กระทำการในทางการที่จ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดนิวขนส่ง ซึ่งเป็นนายจ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัดนิวขนส่งกับนายชัยรัตน์จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เกิดขึ้นแม้โจทก์จะมิได้ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดนิวขนส่งผู้เอาประกันภัยก็ไม่เป็นเหตุทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถบรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 เพราะโจทก์ผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 3 ได้โดยตรงอยู่แล้ว
โจทก์ที่ 9 ที่ 10 ฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัย จึงมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคแรก จะนำอายุความ1 ปี ตามมาตรา 448 วรรคแรก มาบังคับไม่ได้ เมื่อนับแต่วันเกิดเหตุวินาศภัยถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี ฟ้องโจทก์ที่ 9 ที่ 10จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ได้กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 10 รวม ๆ กันมาโดยไม่ใช่ค่าเสียหายที่แท้จริงนั้น จำเลยที่ 3 มิได้ยกเหตุขึ้นอ้างอิงว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ถูกต้องด้วยเหตุใด และค่าเสียหายที่แท้จริงของโจทก์แต่ละคนควรจะเป็นเท่าใด ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในส่วนนี้จึงไม่เป็นฎีกาที่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน