แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 44(7), 71และมาตรา 76 ได้บัญญัติเอาผิดและลงโทษแก่โรงงานและผู้แทนนิติบุคคลที่ขนย้ายน้ำตาลทรายที่ผลิตได้ออกนอกบริเวณโรงงาน โดยฝ่าฝืนระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดเมื่อปรากฏว่า จำเลยเป็นเพียงลูกจ้างของ ม. เจ้าของรถยนต์บรรทุกคันที่บรรทุกน้ำตาลทรายออกนอกบริเวณโรงงาน จำเลยจึงมิใช่โรงงานหรือบุคคลที่กฎหมายระบุให้ถือว่าเป็นผู้กระทำผิดเช่นเดียวกับนิติบุคคลซึ่งได้กระทำความผิด จำเลยย่อมขาดลักษณะหรือคุณสมบัติเฉพาะตัวอันเป็นองค์ประกอบความผิด จึงไม่อาจเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับโรงงานได้
การที่จะลงโทษบุคคลฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดใดจะต้องได้ความว่าบุคคลนั้นมีเจตนาที่จะสนับสนุนการกระทำความผิดนั้น โดยรู้ว่าตนได้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด การขนย้ายน้ำตาลทรายออกนอกบริเวณโรงงานมิใช่เป็นการกระทำผิดเสมอไป จะเป็นความผิดต่อเมื่อการขนย้ายนั้นฝ่าฝืนระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ระเบียบดังกล่าวนี้มีว่าอย่างไรล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริง ถึงแม้จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็หาใช่ข้อกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยทราบระเบียบของคณะกรรมการ จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดจำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่ามีผู้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 44(7) โดยใช้รถยนต์บรรทุกของกลางขนย้ายน้ำตาลทรายดิบที่ผลิตได้ออกนอกบริเวณโรงงาน โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดก็ตาม แต่สาระสำคัญของการกระทำความผิดดังกล่าวอยู่ที่ว่า ขนย้ายน้ำตาลทรายดิบโดยมิได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ และในการขนย้ายไม่มีหนังสืออนุญาตกำกับการขนย้ายเท่านั้น รถยนต์บรรทุกและน้ำตาลทรายดิบของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิดอันจะพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๔, ๑๗, ๑๘, ๔๔(๗), ๗๑ ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา การสำรวจการขนย้าย การจำหน่าย และการส่งมอบน้ำตาลทราย ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๒๘ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ริบน้ำตาลทรายของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๔๔(๗), ๗๑ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ลงโทษปรับคนละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับ ให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลา ๒ ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน ๘๐-๑๓๗๗ ปัตตานี ของกลางอีกด้วย
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่ามีผู้กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ๒๕๒๗มาตรา ๔๔(๗) โดยขนย้ายน้ำตาลทรายดิบของกลางที่ผลิตได้ออกนอกบริเวณโรงงาน มิใช่การขนย้ายตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตรวจค้นพบน้ำตาลทรายดิบของกลางในรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน๘๑-๑๓๗๗ ปัตตานี โดยมีจำเลยที่ ๑ เป็นคนขับ จำเลยที่ ๒ นั่งมาด้วยจำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างของนายมนูญ ศิริทัศน์ เจ้าของรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว คดีมีปัญหาว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๔๔บัญญัติว่า “โรงงานต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) …ฯลฯ…
(๗) ไม่ขนย้ายน้ำตาลทรายที่ผลิตได้ออกนอกบริเวณโรงงานนอกจากขนย้ายตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด” มาตรา ๗๑ บัญญัติว่า”โรงงานใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๔(๗) ต้องระวางโทษ…ฯลฯ… และมาตรา ๗๖ บัญญัติว่า “ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าผู้แทนนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการและบุคคลอื่นใดซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำแทนนิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดและต้องระวางโทษเช่นเดียวกับนิติบุคคลนั้นด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดนั้น หรือได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้นแล้ว” ได้ความว่าจำเลยทั้งสองเป็นเพียงลูกจ้างของนายมนูญเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว จำเลยทั้งสองมิใช่โรงงานหรือบุคคลที่กฎหมายระบุไว้ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดเช่นเดียวกับนิติบุคคลซึ่งได้กระทำความผิด จำเลยทั้งสองขาดลักษณะหรือคุณสมบัติเฉพาะตัวอันเป็นองค์ประกอบความผิด จึงไม่อาจร่วมกันกระทำความผิดกับโรงงานดังที่โจทก์ฟ้องได้ คงมีปัญหาที่สมควรจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จะลงโทษบุคคลฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดใดจะต้องได้ความว่าบุคคลนั้นมีเจตนาที่จะสนับสนุนการกระทำความผิดนั้น โดยรู้ว่าตนได้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด การขนย้ายน้ำตาลทรายออกนอกบริเวณโรงงานมิใช่เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเสมอไปในทุกกรณี จะเป็นความผิดต่อเมื่อการขนย้ายนั้นฝ่าฝืนระเบียบที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดระเบียบดังกล่าวนี้มีว่าอย่างไรล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริง ถึงแม้จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็หาใช่ข้อกฎหมายไม่ โจทก์จึงต้องนำสืบให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองได้ทราบระเบียบดังกล่าวนี้แล้ว ทางพิจารณาไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองทราบระเบียบของคณะกรรมการดังกล่าวแต่ประการใด แม้แต่นายประภาสจักกะพาก ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายซึ่งจำเลยอ้างเป็นพยานยังได้เบิกความว่า การขนย้ายหรือการครอบครองน้ำตาลทรายแดงเวลานี้ยังไม่ต้องขออนุญาต ประกอบกับปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๒ ซึ่งเป็นใบบิลส่งของระบุไว้ว่าของกลางดังกล่าวเป็นน้ำตาลทรายแดง พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานเป็นผู้สนับสนุนไม่ได้เช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น และคดีนี้แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่ามีผู้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ๒๕๒๗มาตรา ๔๔(๗) โดยใช้รถบรรทุกสิบล้อของกลางขนย้ายน้ำตาลทรายดิบของกลางที่ผลิตได้ออกนอกบริเวณโรงงานโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดก็ตามแต่สาระสำคัญของการกระทำความผิดดังกล่าวอยู่ที่ว่า ขนย้ายน้ำตาลทรายดิบโดยมิได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการและในการขนย้ายไม่มีหนังสืออนุญาตกำกับการขนย้ายเท่านั้นรถบรรทุกสิบล้อและน้ำตาลทรายดิบของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดอันจะพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง คืนของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของ