คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5293/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 มาตรา 53 ที่บัญญัติว่า”นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป ให้ข้าราชการและลูกจ้างของกองไฟฟ้าหลวงกรมโยธาเทศบาล ซึ่งต้องออกจากราชการเพราะการยุบเลิกกองไฟฟ้าหลวง กรมโยธาเทศบาลและลูกจ้างของการไฟฟ้ากรุงเทพ กระทรวงมหาดไทย มีฐานะเป็นพนักงาน โดยได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างรวมทั้งเงินเพิ่มเท่าที่ได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อน และให้คณะกรรมการกำหนดอัตราเงินเดือนพนักงานดังกล่าว ซึ่งจำเป็นจะต้องบรรจุโดยให้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่น้อยกว่าที่รับอยู่เดิม ทั้งนี้ให้เสร็จภายในหกสิบวัน”นั้น เป็นการกำหนดให้ลูกจ้างของกองไฟฟ้าหลวงกรมโยธาเทศบาล โอนมาเป็นพนักงานของการไฟฟ้านครหลวงตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้และมิได้ระบุถึงลูกจ้างประเภทใด จึงต้องหมายถึงลูกจ้างของกองไฟฟ้าหลวงทุกประเภทแม้โจทก์จะเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายชั่วโมงของกองไฟฟ้าหลวง ก็มีฐานะเป็นลูกจ้างตามความหมายของบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2501 โจทก์จึงมีฐานะเป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่วันดังกล่าวโดยผลของกฎหมาย ส่วนการที่จำเลยจะดำเนินการเกี่ยวกับวิธีบรรจุโจทก์อย่างไรและเมื่อใดนั้น เป็นการกระทำเพื่อให้ถูกต้องตามวิธีการของจำเลยเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามบทกฎหมายดังกล่าวเสียไป
ข้อบังคับการไฟฟ้านครหลวงว่าด้วยกองทุนเงินบำเหน็จพนักงานอันเป็นข้อบังคับที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จ กำหนดว่า “การนับอายุงานของพนักงานเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จสำหรับพนักงานซึ่งเดิมเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างกองไฟฟ้าหลวงกรมโยธาเทศบาล และได้รับบรรจุให้ปฏิบัติงานในการไฟฟ้านครหลวงตามความในมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 ติดต่อกันมาจนถึงวันที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่และได้รับบำเหน็จ บำนาญ หรือเงินทดแทนกรณีที่ต้องออกจากราชการเพราะยุบเลิกกองไฟฟ้าหลวงกรมโยธาเทศบาลแล้ว ให้นับอายุงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2501… โจทก์เป็นลูกจ้างของกองไฟฟ้าหลวงและได้รับบรรจุให้ปฏิบัติงานในการไฟฟ้านครหลวงโดยได้ทำงานติดต่อกันมาจนถึงวันที่พ้นหน้าที่เพราะเกษียณอายุ การนับอายุงานของโจทก์จึงต้องนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2501 ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของกองไฟฟ้าหลวงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2498 ต่อมามีพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 บทเฉพาะกาลมาตรา 53 ให้โจทก์ทั้งสี่ออกจากงานเพราะยุบเลิกกองไฟฟ้าหลวง กรมโยธาเทศบาล และให้มีฐานะเป็นพนักงานลูกจ้างจำเลยภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2501 จำเลยจึงต้องบรรจุโจทก์ทั้งสี่เข้าเป็นลูกจ้างไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2501 แต่จำเลยบรรจุโจทก์ทั้งสี่เป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2502 ช้ากว่ากำหนดดังกล่าว ทำให้อายุงานของโจทก์ขาดไป และจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ทั้งสี่ไม่ครบ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่ขาด
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การต่อสู้คดี
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดแก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยได้บรรจุโจทก์ทั้งสี่เป็นลูกจ้างประจำเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2502 จึงต้องนับอายุงานของโจทก์ทั้งสี่จากวันดังกล่าวตามที่บัญญัติในมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2504 พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 มาตรา 53 บัญญัติว่า “นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป ให้ข้าราชการและลูกจ้างของกองไฟฟ้าหลวง กรมโยธาเทศบาล ซึ่งต้องออกจากราชการเพราะการยุบเลิกกองไฟฟ้าหลวง กรมโยธาเทศบาล และลูกจ้างของการไฟฟ้ากรุงเทพกระทรวงมหาดไทย มีฐานะเป็นพนักงาน โดยได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างรวมทั้งเงินเพิ่มเท่าที่ได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อน และให้คณะกรรมการกำหนดอัตราเงินเดือนพนักงานดังกล่าว ซึ่งจำเป็นจะต้องบรรจุโดยให้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่น้อยกว่าที่รับอยู่เดิม ทั้งนี้ให้เสร็จภายในหกสิบวัน” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนดให้ลูกจ้างของกองไฟฟ้าหลวง กรมโยธาเทศบาล โอนมาเป็นพนักงานของการไฟฟ้านครหลวงตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ และในกฎหมายดังกล่าวก็มิได้ระบุถึงลูกจ้างประเภทใด จึงต้องหมายถึงลูกจ้างของกองไฟฟ้าหลวงทุกประเภท โจทก์ทั้งสี่แม้จะเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายชั่วโมงของกองไฟฟ้าหลวง ก็มีฐานะเป็นลูกจ้างตามความหมายของบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2501 โจทก์ทั้งสี่จึงมีฐานะเป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่วันดังกล่าวโดยผลของกฎหมาย และข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทั้งสี่ทำงานกับกองไฟฟ้าหลวง เมื่อมีการยุบเลิกกองไฟฟ้าหลวงแล้วก็ทำงานกับจำเลยตลอดมาโจทก์ทั้งสี่จึงมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันที่มีกฎหมายจัดตั้งการไฟฟ้านครหลวงตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 ส่วนการที่จำเลยจะดำเนินการเกี่ยวกับวิธีบรรจุโจทก์ทั้งสี่อย่างไรและเมื่อใดนั้น เป็นการกระทำเพื่อให้ถูกต้องตามวิธีการของจำเลยเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ทั้งสี่ที่มีอยู่ตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้นเสียไป ทั้งในข้อบังคับการไฟฟ้านครหลวงว่าด้วยกองทุนเงินบำเหน็จพนักงาน เอกสารหมาย ล.9 อันเป็นข้อบังคับที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ทั้งสี่ หมวดที่ 3 การนับอายุงาน ข้อ 14 กำหนดว่า “การนับอายุงานของพนักงานเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จตามความในข้อ 12 ให้ถือหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้…
(6) สำหรับพนักงานซึ่งเดิมเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างกองไฟฟ้าหลวงกรมโยธาเทศบาล และได้รับบรรจุให้ปฏิบัติงานในการไฟฟ้านครหลวงตามความในมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 ติดต่อกันมาจนถึงวันที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่และได้รับบำเหน็จ บำนาญ หรือเงินทดแทนกรณีที่ต้องออกจากราชการเพราะยุบเลิกกองไฟฟ้าหลวงกรมโยธาเทศบาลแล้ว ให้นับอายุงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2501…” โจทก์ทั้งสี่เป็นลูกจ้างของกองไฟฟ้าหลวงและได้รับบรรจุให้ปฏิบัติงานในการไฟฟ้านครหลวง โดยได้ทำงานติดต่อกันมาจนถึงวันที่พ้นหน้าที่เพราะเกษียณอายุ การนับอายุงานของโจทก์ทั้งสี่จึงต้องนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2501 ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลย
พิพากษายืน.

Share