แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน สปก.4-01 ข. รวม 3 แปลง การที่จำเลยไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ซึ่งเคยเป็นภริยาของจำเลยแต่ศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกันแล้ว ตามข้อ 1.1 ว่าที่ดิน สปก.4-01 ข. รวม 3 แปลง โจทก์ยอมให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแต่ผู้เดียว นั้น มีความหมายเพียงว่าโจทก์จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวและร่วมทำกินในที่ดินทั้งสามแปลงโดยยอมให้จำเลยทำกินแต่ผู้เดียว การที่จำเลยให้ ส. มาเพาะปลูกทำเกษตรในที่ดิน สปก.4-01 ข. รวม 3 แปลง ก็ได้ความจากจำเลยว่า ส. เป็นพี่ชายของจำเลยที่จำเลยให้มาช่วยทำการเพาะปลูกทำเกษตรในที่ดินเท่านั้น ดังนี้ จะถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงข้อ 1.1 อันเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยฉบับลงวันที่ 17 ตุลาคม 2556 ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้อง ฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ว่า จำเลย ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 1.1 ที่กำหนดว่าโจทก์ยอมให้จำเลยเป็นผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4 – 01 (ที่ถูก ส.ป.ก. 4 – 01 ข) เลขที่ 11500, 11501 และเลขที่ 11492 อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา รวม 3 แปลง แต่เพียงผู้เดียว หลังจากนั้นจำเลยไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ข) เลขที่ 11500 และ 11501 แต่กลับให้นายเสาร์ เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน 2 แปลงดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการผิดสัญญา ซึ่งตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 4 กำหนดว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ข้อ 1 ถึงข้อ 3 ยอมให้ทรัพย์สินตกเป็นของอีกฝ่ายหนึ่ง ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีบังคับตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยให้จำเลยส่งมอบที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวให้โจทก์เข้าครอบครองและใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดิน
จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลง เป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 การบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินและใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลงดังกล่าว จึงเป็นการบังคับคดีที่กฎหมายไม่เปิดช่องให้สามารถทำได้ จึงไม่อาจตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับคดีตามคำร้องของโจทก์ได้ ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่ากันตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 67/2556 หลังจากนั้นโจทก์ฟ้องจำเลยขอแบ่งสินสมรสเป็นคดีนี้ ต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม 2556 โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมโดยสัญญาระนีประนอมยอมความมีดังนี้ ข้อ 1. โจทก์และจำเลยยอมตกลงกันมีเงื่อนไขดังนี้ ข้อ 1.1 ที่ดิน ส.ป.ก. 4 – 01 (ที่ถูก 4 – 01 ข) เลขที่ 11500 แปลงเลขที่ 9 กลุ่ม 7522 อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 4 ไร่ 85 ตารางวา ที่ดิน ส.ป.ก. 4 – 01 (ที่ถูก 4 – 01 ข) เลขที่ 11501 แปลงเลขที่ 19 กลุ่ม 7522 อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา และที่ดิน ส.ป.ก. 4 – 01 (ที่ถูก 4 – 01 ข) เลขที่ 11492 แปลงเลขที่ 9 กลุ่ม 6919 อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 51 ตารางวา รวม 3 แปลง โจทก์ยอมให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ข้อ 1.2 ที่ดินโฉนดเลขที่ 19667 เลขที่ 7 ตำบลคลองเมือง อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 10 ไร่ 62 ตารางวา ปัจจุบันติดจำนองธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาจักรราช หนี้จำนวน 100,000 บาทเศษ ที่ดินดังกล่าว จำเลยยอมยกให้โจทก์และยอมให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแต่ผู้เดียว สำหรับหนี้จำนวนดังกล่าวของที่ดินแปลงนี้ที่โจทก์ได้จำนองธนาคารไว้ จำเลยยอมเป็นผู้ใช้หนี้ให้ทั้งหมดแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี นับแต่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ ข้อ 2. ที่ดินโฉนดเลขที่ 19667 เลขที่ 7 ตำบลคลองเมือง อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 10 ไร่ 62 ตารางวา เมื่อจำเลยชำระหนี้ธนาคารครบถ้วนแล้วโจทก์ยินยอมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้แก่นางสาวสุวรรณี และนายสุรศรี ข้อ 3. …ข้อ 4. หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาตามข้อ 1 ถึงข้อ 3 ยอมให้ทรัพย์สินตกเป็นของอีกฝ่าย ข้อ 5. … ข้อ 6. ค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความให้เป็นพับ ต่อมาประมาณเดือนเมษายน 2557 จำเลยได้นำรถยนต์แทรคเตอร์เข้าไปทำการปรับไถที่ดินโฉนดเลขที่ 19667 ทางด้านทิศเหนือจำนวน 5 ไร่ ทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ได้ โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ขอให้นัดพร้อมเพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 1.2 วันที่ 10 มิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อม จำเลยแถลงยอมรับว่าเข้าไปทำไร่มันสำปะหลังในที่ดิน เนื้อที่ 5 ไร่ จริง เนื่องจากเข้าใจว่าจะต้องไปจดทะเบียนให้แก่บุตรทั้งสอง จำเลยขอปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 1.2 ต่อไป โดยให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินทั้งแปลงศาลจึงกำชับจำเลยมิให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินตาม ข้อ 1.2 หากผิดเงื่อนไขให้โจทก์สามารถบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ สำหรับที่ดิน ส.ป.ก. 4 – 01 ข เลขที่ 11500 เลขที่ 11501 และเลขที่ 11492 มีชื่อจำเลยเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ ซึ่งออกให้เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2549
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า โจทก์จะขอให้ศาลออกหมายให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1.1 กล่าวคือจำเลยไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4 – 01 ข รวม 3 แปลง เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับมอบให้เข้าทำกินในที่ดิน ส.ป.ก. 4 – 01 ข เลขที่ 11500 เลขที่ 11501 และเลขที่ 11492 ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน การที่จำเลยไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ซึ่งเคยเป็นภริยาของจำเลยแต่ศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกันแล้วโดยโจทก์ยอมให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแต่ผู้เดียวนั้น มีความหมายเพียงว่า โจทก์จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวและร่วมทำกินในที่ดินทั้งสามแปลงโดยยอมให้จำเลยทำกินแต่ผู้เดียว การที่นายเสาร์มาเพาะปลูกทำเกษตรในที่ดิน ส.ป.ก. 4 – 01 ข รวม 3 แปลง ก็ได้ความจากจำเลยว่า นายเสาร์เป็นพี่ชายของจำเลยที่จำเลยให้มาช่วยทำการเพาะปลูกทำเกษตรในที่ดินเท่านั้น ดังนี้ จะถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงข้อ 1.1 อันเป็นการผิดสัญญาหาได้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ