แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยมิใช่ผู้ออกใบตราส่ง ทั้งไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับการขนส่งสินค้า จำเลยเพียงเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งที่อยู่ต่างประเทศและไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย โดยจำเลยเป็นผู้แจ้งการมาถึงของเรือผู้ขนส่งให้ผู้รับตราส่งทราบและให้ผู้รับตราส่งนำใบตราส่งไปเปลี่ยนเป็นใบปล่อยสินค้า จำเลยเป็นผู้ออกใบปล่อยสินค้าและติดต่อกรมศุลกากรเพื่อเปิดระวางเรือ แจ้งกรมเจ้าท่าเพื่อให้นำเรือเข้าเทียบท่าเรือกรุงเทพมหานคร และแจ้งกองตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้เจ้าหน้าที่มาตรวจ คนที่มากับเรือ ซึ่งการเหล่านี้มิใช่การขนส่ง แต่เป็นงานเกี่ยวกับเอกสารหรือการติดต่อกับบุคคลต่าง ๆ ซึ่งผู้ขนส่งมิได้กระทำโดยตนเอง หากแต่ได้มอบหมายให้จำเลยทำแทนเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงมิใช่ลักษณะการร่วมเป็นผู้ขนส่งสินค้าหรือเป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะยกมาปรับแก่คดีรับขนของทางทะเลในขณะเกิดข้อพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า บริษัทไทยแมล่อนเท็กซ์ไทล์ จำกัด ได้ซื้อเครื่องจักรปั่นด้ายครบชุดพร้อมด้วยส่วนประกอบจากบริษัทไชน่าแนชชั่นแนลแมชชินเนอรี่อิมพอร์ตแอนด์เอ็กซ์พอร์ตคอร์ปอเรชั่น ในประเทศจีน 2 รายการ และผู้ซื้อได้นำสินค้าทั้งสองรายการมาเอาประกันภัยทางทะเลไว้แก่โจทก์ เมื่อผู้ซื้อไปรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าสินค้าเสียหาย37 ลัง บริษัทไทยแมล่อนเท็กซ์ไทล์ จำกัด ได้เรียกให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับสินค้าดังกล่าว โจทก์ชำระให้แล้ว โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิ บริษัทผู้ขนส่งไม่มีสาขาในประเทศไทย จำเลยได้ร่วมกับบริษัทดังกล่าวในกิจการขนส่งในประเทศไทย จำเลยต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 382,486.26 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 375,679 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน375,679 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์150,271.60 บาท ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้ใช้เท่าที่โจทก์ชนะคดีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยเป็นผู้เข้าร่วมขนส่งหรือเป็นผู้ขนส่งหลายทอด อันจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ปรากฏว่าคดีนี้เป็นคดีที่ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อปี 2530 บริษัทไทยแมล่อนเท็กซ์ไทล์ จำกัด สั่งซื้อเครื่องจักรปั่นด้ายครบชุดจากบริษัทไชน่าแนชชั่นแนลแมชชินเนอรี่อิมพอร์ตแอนด์เอ็กซ์ปอร์ตคอร์ปอเรชั่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 2 รายการรายการละ 125,104 แกน หรือ 385 ลัง เป็นการซื้อขายประเภทซีแอนด์เอฟคือ ผู้ซื้อชำระค่าสินค้าและค่าระวางเรือซึ่งได้ชำระให้แล้วผ่านวิธีการธนาคาร ผู้ขายได้ว่าจ้างให้บริษัทไชน่าโอเชื่ยนชิปปิ้ง คัมปะนีขนส่งสินค้ารายการหนึ่งจากเมืองซินเกียงมา กรุงเทพมหานคร โดยเรือไฮเมนผู้ขนส่งได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ขายตามเอกสารหมาย จ.4 สำหรับสินค้าจำนวน 385 ลังผู้ขายได้ส่งเอกสารหมาย จ.4 พร้อมใบกำกับสินค้าและใบรายการบรรจุหีบห่อตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 มาให้ผู้ซื้อ สินค้าอีกรายการหนึ่งผู้ขายได้จ้างบริษัทไชน่าแนชชั่นแนลฟอรีนเทรดทรานสปอร์ตเตชั่น คอร์ปอเรชั่นขนส่งจากเมืองเซี่ยงไฮ้มายังกรุงเทพมหานครโดยเรือฟาร์อิสต์ไพล็อต ผู้ขนส่งออกใบตราส่งแก่ผู้ขายตามเอกสารหมาย จ.15 สำหรับสินค้าจำนวน 845 ลังผู้ขายได้ส่งเอกสารหมาย จ.15 พร้อมใบกำกับสินค้าและใบรายการบรรจุหีบห่อเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 มาให้ผู้ซื้อ บริษัทไทยแมล่อนเท็กซ์ไทล์ จำกัด นำสินค้าทั้งสองรายการมาเอาประกันภัยทางทะเลไว้แก่โจทก์ ตามกรมธรรม์เอกสารหมาย จ.2 และ จ.14จำเลยประกอบกิจการเป็นตัวแทนของบริษัทผู้ขนส่งต่างประเทศที่ไม่มีสาขาในประเทศไทย เรือไฮเมนเดินทางมาถึงกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2530 จำเลยได้แจ้งให้บริษัทไทยแมล่อนเท็กซ์ไทล์ จำกัด ทราบวันมาถึงของเรือ และให้นำใบตราส่งไปเปลี่ยนเป็นใบปล่อยสินค้า จำเลยเป็นผู้ออกใบปล่อยสินค้าตามเอกสารหมาย จ.36 จำเลยติดต่อกรมศุลกากรเพื่อเปิดระวางเรือตามเอกสารหมาย จ.25 แจ้งกรมเจ้าท่าเพื่อให้นำเรือเข้าท่าเรือกรุงเทพมหานครตามเอกสารหมาย จ.27 และแจ้งกองตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้เจ้าหน้าที่มาตรวจคนที่มากับเรือตามเอกสารหมาย จ.32 จ.33และ จ.34 เมื่อทางเรือมอบสินค้าดังกล่าวต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อให้ผู้ซื้อมารับไป ปรากฏว่าลังที่บรรจุสินค้ายุบ 3 ลัง สินค้าชำรุดเสียหาย ส่วนเรือฟาร์อิสต์ไพล็อตเดินทางถึงกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2530 จำเลยก็ดำเนินการโดยแจ้งการมาถึงของเรือให้บริษัทไทยแมล่อนเท็กซ์ไทล์ จำกัด ทราบรับใบตราส่งคืน และออกใบปล่อยสินค้าตามเอกสารหมาย จ.37 ติดต่อกรมศุลกากร กรมเจ้าท่า และกองตรวจคนเข้าเมืองตามเอกสารหมาย จ.26และ 28 ถึง จ.31 เช่นกัน เมื่อทางเรือมอบสินค้าดังกล่าวต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อให้ผู้ซื้อมารับไป ปรากฏว่ามีลังยุบ14 ลัง แตก 31 ลัง สินค้าเสียหาย บริษัทไทยแมล่อนเท็กซ์ไทล์จำกัด ได้เรียกให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับสินค้าทั้งสองรายการดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.22 โจทก์ได้จ่ายเงินค่าเสียหายสำหรับสินค้าทั้งสองรายการไปแล้ว โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยในฐานะผู้ร่วมขนส่งชดใช้ค่าเสียหายนั้นและจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วตามหนังสือและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13
พิเคราะห์แล้ว จากข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าบริษัทไชน่า โอเชี่ยนชิปปิ้ง คัมปะนี เป็นผู้ขนส่งสินค้ารายการแรกจากเมืองซินเกียงมา กรุงเทพมหานคร โดยบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ออกใบตราส่งเอง และบริษัทไชน่าแนชชั่นแนลฟอรีนเทรดทรานสปอร์เตชั่น คอร์ปอเรชั่นเป็นผู้ขนสินค้าอีกรายการหนึ่งจากเมืองเซี่ยงไฮ้มายังกรุงเทพมหานคร โดยบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ออกใบตราส่งเองเช่นกันจำเลยมิใช่ผู้ออกใบตราส่ง ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับการขนส่งสินค้าทั้งสองรายการนี้ไม่ว่าจะเป็นในระหว่างทางหรือเมื่อเรือมาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครแล้ว การเกี่ยวข้องของจำเลยเพียงเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งทั้งสองรายที่อยู่ต่างประเทศและไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย โดยจำเลยเป็นผู้แจ้งการมาถึงของเรือผู้ขนส่งให้ผู้รับตราส่งทราบ และให้ผู้รับตราส่งนำใบตราส่งไปเปลี่ยนเป็นใบปล่อยสินค้า จำเลยเป็นผู้ออกใบปล่อยสินค้าและติดต่อกรมศุลกากรเพื่อเปิดระวางเรือแจ้งกรมเจ้าท่าเพื่อให้นำเรือเข้าเทียบท่าเรือกรุงเทพมหานครและแจ้งกองตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้เจ้าหน้าที่มาตรวจคนที่มากับเรือซึ่งการเหล่านี้มิใช่การขนส่ง แต่เป็นงานเกี่ยวกับเอกสารหรือการติดต่อกับบุคคลต่าง ๆ ซึ่งเจ้าของเรือหรือบริษัทผู้ขนส่งมิได้กระทำโดยตนเอง หากแต่ได้มอบหมายให้จำเลยทำแทนเท่านั้นการกระทำต่าง ๆ ที่กล่าวมาของจำเลยจึงมิใช่ลักษณะการร่วมเป็นผู้ขนส่งสินค้ารายพิพาทนี้หรือเป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะยกมาปรับแก่คดีรับขนของทางทะเลในขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้ซึ่งยังไม่มีกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้นดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 4 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์