คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5282/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่งกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้น แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลจะต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยผิดจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 วรรคหนึ่ง เว้นแต่ของกลางจะมีจำนวนตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่ให้ถือว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย เมื่อของกลางในคดีนี้คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้หนัก 11.4 กรัม ไม่ถึง 20 กรัม ไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสองโจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความจริงตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
จากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอก ว. ได้ความว่า ที่ตั้งข้อหาว่ามียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เนื่องจากของกลางมีจำนวนมากเท่านั้น ไม่มีพฤติการณ์อื่นใดอีก เช่น มีการล่อซื้อหรือมีพยานยืนยันว่าเคยซื้อหรือเคยล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสาม ตามทางนำสืบโจทก์จึงรับฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมิได้ฎีกาเรื่องนี้ขึ้นมาโดยตรง และจำเลยที่ 3 ฎีกาแต่เฉพาะขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3สถานเบา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้และเมื่อฟังว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง ซึ่งศาลฎีกาจะต้องกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสม จึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่าสมควรลดโทษให้จำเลยที่ 3 อีกหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ริบของกลาง

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 20 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ให้จำเลยที่ 3 กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 13 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 3 มีกำหนด 10 ปีริบของกลาง

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด16 ปี คำให้การของจำเลยที่ 1 บางส่วนในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 12 ปี ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 10 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 กับคำให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาของจำเลยที่ 3เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามลดโทษให้จำเลยที่ 3 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสามฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า ในเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปตามถนนสายอู่ทองกาญจนบุรี และยึดเมทแอมเฟตามีน 3 ถุง จำนวน 585 เม็ด ตามบัญชีของกลางเอกสารหมายจ.3 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 11.4 กรัม ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลางเอกสารหมาย จ.4 ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 และคำให้การเอกสารหมายจ.7 แต่มาอ้างในชั้นพิจารณาว่าเป็นการรับสารภาพโดยไม่สมัครใจ ส่วนจำเลยที่ 3ให้การรับสารภาพมาโดยตลอดตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.2 และคำให้การเอกสารหมาย จ.8

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องและมีเหตุที่จะลดโทษให้จำเลยที่ 3 อีก ดังจำเลยทั้งสามฎีกาหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์และคำรับสารภาพของจำเลยที่ 3รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองจริง

อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่งกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้น แม้จำเลยที่ 3 จะให้การรับสารภาพ ศาลจะต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 3 ผิดจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เว้นแต่ของกลางจะมีจำนวนตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่ให้ถือว่ามีไว้เพื่อจำหน่ายเมื่อของกลางในคดีนี้คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้หนัก 11.4 กรัม ไม่ถึง 20 กรัมไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 15 วรรคสอง โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความจริงตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แต่จากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกวัชรา ชิโนวรรณ ได้ความว่าที่ตั้งข้อหาว่ามียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเนื่องจากของกลางมีจำนวนมากเท่านั้นไม่มีพฤติการณ์อื่นใดอีก เช่น มีการล่อซื้อหรือมีพยานยืนยันว่าเคยซื้อหรือเคยล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสามตามทางนำสืบโจทก์จึงรับฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมิได้ฎีกาเรื่องนี้ขึ้นมาโดยตรงและจำเลยที่ 3 ฎีกาแต่เฉพาะขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 สถานเบาเท่านั้น แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อฟังว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองซึ่งศาลฎีกาจะต้องกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสม จึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่าสมควรลดโทษให้จำเลยที่ 3 อีกหรือไม่”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 ปีจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปีจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพมาโดยตลอดเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share