คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5282/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานของโจทก์ประเมินราคาชิ้นส่วนสินค้าตู้เครื่องรับโทรทัศน์พร้อมหลอดภาพที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยเทียบเคียง ราคากับบัตรราคาเครื่องรับโทรทัศน์ครบชุดชนิดเดียวกันที่นำเข้ามาภายหลังประมาณ 2 ปีนั้น มิใช่ราคาณ เวลาที่นำของเข้าและเป็นของชนิดเดียวกัน และการที่เจ้าพนักงานของโจทก์กำหนดราคาสินค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นชิ้นส่วนร้อยละ40 ของราคาสินค้าครบชุดโดยไม่มีกฎเกณฑ์ให้เห็นว่าเพราะเหตุใดถือไม่ได้ว่าราคาที่เจ้าพนักงานของโจทก์ประเมินเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด
สำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ประเมินเพิ่มนั้นจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 30 ภาษีส่วนนี้จึงยุติและจำเลยที่ 1จะต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1077, 1087
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ หากผู้ประกอบการค้าไม่ชำระภาษีการค้าภายในกำหนดเวลาก็ต้องชำระเงินเพิ่มตามอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นทางแก้กรณีลูกหนี้ผิดนัดโดยเฉพาะแล้ว จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ว่าด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาเรียกร้องเอากับลูกหนี้ซ้ำอีกไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๑ จำเลยที่ ๑ นำสินค้าอะไหล่เครื่องรับโทรทัศน์ ๒ รายการ จำนวน ๕๐ หีบห่อ จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทย ได้ชำระภาษีอากรและวางเงินประกันค่าภาษีอากรพร้อมกับรับสินค้าไปแล้ว ต่อมาเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ ๑ ตรวจสอบพบว่าจำเลยที่ ๑ สำแดงราคาในใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าต่ำกว่าราคาที่แท้จริงจึงได้ประเมินภาษีอากรเพิ่มเติม เมื่อหักเงินประกันที่วางไว้ จำเลยที่ ๑ จะต้องชำระค่าภาษีอากรเพิ่มเติมอีก แต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย จึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรร้อยละ ๒๐ ของอากรขาเข้าที่จะต้องชำระเพิ่มเติมเงินเพิ่มอากรขาเข้าร้อยละ ๑ ต่อเดือนของอากรขาเข้าที่ต้องชำระเพิ่มเติมนับตั้งแต่วันนำสินค้าเข้าจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๙๔ เดือนเงินเพิ่มภาษีการค้าร้อยละ ๑ ต่อเดือนของภาษีการค้าที่ต้องชำระเพิ่มเติมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๒๑ ถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๙๓ เดือนเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ ๑๐ ของเงินเพิ่มภาษีการค้า รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๘๒,๑๐๔.๗๐ บาท จำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ ๑ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าภาษีอากรจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การต่อสู้คดีและอ้างว่าเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่า จำเลยที่ ๑ นำสินค้าผู้เครื่องรับโทรทัศน์สียี่ห้อโซนี่ขนาด ๑๘ นิ้ว พร้อมหลอดภาพเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๘มิถุนายน ๒๕๒๑ ได้ชำระค่าภาษีอากรและวางเงินประกันค่าอากรขาเข้าแล้วรับสินค้าดังกล่าวไป ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ ๑ ได้ประเมินราคาสินค้าตามใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าที่จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นไว้เทียบเคียงราคากับบัตรราคาที่เป็นสินค้าชนิดเดียวกันคือเครื่องรับโทรทัศน์ครบชุดแล้วประเมินราคาว่ามีค่าเท่ากับร้อยละ ๔๐ ของราคาเครื่องรับโทรทัศน์ครบชุดแล้วให้จำเลยที่ ๑ ชำระภาษีอากรเพิ่ม เห็นว่า ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดนั้นพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ มาตรา ๒ได้มีบทวิเคราะห์ไว้ว่า “คำว่า “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด” หรือ”ราคา” แห่งของอย่างใดนั้นหมายความว่า ราคาขายส่งเงินสด(ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลา และที่ที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี โดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด”การที่เจ้าพนักงานของโจทก์นำเอาราคาสินค้าที่นำเข้าในปี ๒๕๒๓มาเป็นข้อกำหนดราคาสินค้าของจำเลยที่ ๑ วิ่งนำเข้าในปี ๒๕๒๑ เห็นได้ว่ามิใช่ราคาที่นำของเข้าตามบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้น สินค้าของจำเลยที่ ๑ เป็นชิ้นส่วน แต่ราคาตามบัตรราคาเป็นสินค้าครบชุดจึงถือไม่ได้ว่าเป็นของชนิดเดียวกัน ทั้งการที่เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ ๑ กำหนดเอาว่า ราคาสินค้าของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนมีราคาร้อยละ ของราคาครบชุดก็ไม่มีกฎเกณฑ์ให้เห็นว่าเพราะเหตุใดจึงได้กำหนดในอัตราดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าราคาที่เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ ๑ กำหนดขึ้นนั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดสำหรับของจำเลยที่ ๑ นำเข้า ณ เวลาที่นำของเจ้าตามที่กฎหมายกำหนด แต่ในส่วนของภาษีการค้า เงินเพิ่มภาษีการค้าร้อยละ ๑ ต่อเดือนถึงวันฟ้องภาษีบำรุงเทศบาลและเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ ๑๐ ของเงินเพิ่มภาษีการค้าที่ประเมินเพิ่มนั้น จำเลยที่ ๑ มิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๐ภาษีส่วนนี้จึงยุติตามที่ประเมินเพิ่ม จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในเงินภาษีดังกล่าวจำนวน ๑๕,๓๖๒.๑๒ บาท จำเลยที่ ๒ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการก็ต้องร่วมรับผิดด้วย ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๗๗, ๑๐๘๗ ส่วนที่โจทก์ทั้งสองของให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีด้วยนั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๘๙ ทวิ ผู้ประกอบการค้าต้องชำระเงินเพิ่มตามอัตราที่กฎหมายกำหนดเมื่อไม่ชำระภาษีการค้าภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด อันเป็นทางแก้กรณีลูกหนี้ผิดนัดโดยเฉพาะแล้วจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ ว่าด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาเรียกร้องเอากับลูกหนี้ซ้ำอีกไม่ได้ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินให้โจทก์ทั้งสอง๑๕,๓๖๒.๑๒ บาท.

Share