แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากอสังหาริมทรัพย์ ในขณะยื่นคำฟ้องทรัพย์สินที่พิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละห้าพันบาท จำเลยต่อสู้ว่าอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิของมารดาจำเลยซึ่งมีสิทธิดีกว่าโจทก์ มิได้กล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายแต่การวินิจฉัยย่อมจะต้องอาศัยข้อเท็จจริงเพื่อวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว การเถียงข้อเท็จจริงซึ่งศาลล่างทั้งสองฟังเป็นยุติแล้วว่าทรัพย์พิพาทเป็นของโจทก์ให้จำเลยอาศัยอยู่และต้องห้ามฎีกา เพื่อสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยจึงมีผลเป็นอย่างเดียวกับการฎีกาในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากบ้านเลขที่ 1000/1 ถนนอุปราช และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 700 บาทและต่อไปอีกวันละ 100 บาท จนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากบ้านและที่ดินดังกล่าว จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นกรรมสิทธิ์ของมารดาจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านเลขที่ 1000/1 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่641 ตำบลเชียงราย (หัวเวียง) อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปางให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 700 บาท แก่โจทก์ และค่าเสียหายอีกวันละ 100 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากบ้านและที่ดินดังกล่าว จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อ 10.1 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาขึ้นมามีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยฎีกามายืดยาวพอแปลความหมายได้ว่า ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของนางฟองคำ วัฒนะ มารดาจำเลยซึ่งขณะพิพาทนางฟองคำยังครอบครองอยู่นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากอสังหาริมทรัพย์ ได้ความว่าโจทก์เรียกค่าเสียหายเป็นค่าปรับวันละ 100 บาท หรือเดือนละ 3,000 บาท และจำเลยมิได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่นจึงต้องฟังว่าในขณะยื่นคำฟ้องทรัพย์สินที่พิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละห้าพันบาท และจำเลยต่อสู้ว่าอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนางฟองคำ วัฒนะมารดาซึ่งมีสิทธิดีกว่าโจทก์ มิได้กล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ที่จำเลยฎีกามานั้น แม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่การวินิจฉัยย่อมจะต้องอาศัยข้อเท็จจริงเพื่อวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย การเถียงข้อเท็จจริงซึ่งศาลล่างทั้งสองฟังเป็นยุติแล้วว่าทรัพย์พิพาทเป็นของโจทก์ให้จำเลยอาศัยอยู่และต้องห้ามฎีกา เพื่อสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลย จึงมีผลเป็นอย่างเดียวกับการฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว”
พิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลย