คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2484

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุชื่อเจ้าทรัพย์เป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องม.158(5) แห่งประมวลวิธีพิจารณาอาญาศาลต้องพิพากษายกฟ้อง,คู่ความฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่มิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว-แต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองนี้มีมีดเป็นสาตราวุธบังอาจสมคบกันลักธนบัตร์ สตางค์และตัวพิมพ์รูปพรรณโคไป ขอให้ลงโทษ
ศาลชั้นต้นพิจารณาฟ้องและคำให้การจำเลยแล้วเห็นว่า ฟ้องโจทก์มิได้ระบุชื่อเจ้าทรัพย์จึงไม่ถูกต้องตามประมวลวิธีพิจารณาอาญาม.๑๕๘ ข้อ ๕ ฉะนั้นจะว่าเป็นการพอสมควรจะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดียังไม่ได้ จึงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ว่า ในวันพิจารณาเมื่อจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์แถลงขอแก้ฟ้องศาลไม่ยอมให้แก้ ซึ่งตามประมวลวิธีพิจารณาอาญาม.๑๖๑ ศาลควรเปิดโอกาศให้จำเลยแก้ฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการที่โจทก์กล่าวในอุทธรณ์ว่าได้แถลงขอยื่นคำร้องแก้ฟ้องนั้นฟังได้ไม่สนิท เพราะไม่มีรายงานการพิจารณาแสดงว่าโจทก์ได้เคยขอยื่นคำร้องแก้ฟ้องและเมื่อฟ้องของโจทก์บกพร่องในข้อสำคัญที่สุดเช่นนี้ ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องทันทีนั้นเป็นการใช้ดุลยพินิจต้องตามกฎหมายแล้ว จึงพิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลจะยกฟ้องได้ต้องปรากฏว่า ศาลได้สั่งให้โจทก์แก้ฟ้องถูกต้องแล้วแต่โจทก์ยืนยันไม่ยอมแก้ จึงจะเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องได้
ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลพิจารณาอาญามาตรา ๑๖๑ เป็นบทบัญญัติให้ศาลเลือกใช้ดุลยพินิจสั่งให้ดจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องก็ได้หรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้องของโจทก์ก็ได้ ในคดีนี้ศษลพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะในฟ้องโจทก์มิได้ระบุชื่อเจ้าทรัพย์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และตามที่โจทก์ยกมาตรา ๑๘ แห่งประมวลวิธีพิจารณาแพ่งกอปด้วยมาตรา ๑๕ แห่งประมวลวิธีพิจารณาอาญาเถียงมาด้วยนั้น เห็นว่าข้อนี้โจทก์มิได้ยกขึ้นโต้เถียงมาแต่ต้น จึงเป็นอันตกไปตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๕ จึงพิพากษายืน

Share