คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5279/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิม ส. เคยฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีอากร คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบหรือไม่ และเป็นประเด็นที่ศาลในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย ส่วนคดีนี้แม้โจทก์จะนำหนี้ภาษีอากรค้างในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งห้าให้รับผิด แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ยกข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า หนี้ภาษีอากรค้างที่ ส. เป็นหนี้อยู่แก่โจทก์ยังมิได้ชำระและ ส. ถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยทั้งห้าเป็นทายาทผู้รับมรดกมีหน้าที่ต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวโดยนำทรัพย์สินกองมรดกที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งห้ามาชำระหนี้แก่โจทก์ ประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงมีว่า จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ส. มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีอากรของ ส. แก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับในคดีก่อน แม้จำเลยทั้งห้าอยู่ในฐานะเป็นผู้สืบสิทธิของ ส. ผู้ตายก็ตาม แต่สภาพแห่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทผู้รับมรดกของ ส. ให้รับผิดในหนี้ที่ ส. มีอยู่แล้วแก่โจทก์ ซึ่งเป็นความรับผิดของทายาทโดยเฉพาะต่อกองมรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 จึงมิใช่เป็นเรื่องที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
แม้คดีเดิมที่ ส. เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยถึงที่สุด อันมีผลให้หนี้ภาษีอากรดังกล่าวเป็นภาษีอากรค้าง ซึ่งอธิบดีโจทก์มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของ ส. ได้ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 12 วรรคสอง โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่งก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่ให้อำนาจแก่อธิบดีโจทก์ไว้เป็นพิเศษเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรให้เป็นไปโดยรวดเร็วโดยไม่ต้องนำคดีมาสู่ศาล อำนาจของอธิบดีโจทก์แม้จะมีลักษณะเสมือนเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ก็ไม่มีผลทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ภาษีอากรค้างกลับกลายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ทั้งการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก ก็เพื่อให้ความรับผิดที่จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดแก่โจทก์ เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้ได้
จำเลยทั้งห้าอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมและมีสิทธิได้รับมรดกของ ส. โจทก์ชอบที่จะฟ้องบังคับให้รับผิดชำระหนี้ภาษีอากรค้างของ ส. ได้ และคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดย่อมมีผลผูกพันโจทก์ และ ส. ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29 ส. จึงไม่อาจรื้อฟื้นโต้แย้งต่อโจทก์เกี่ยวกับการประเมินดังกล่าวอีกได้ และจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทและผู้สืบสิทธิในกองมรดกของ ส. ก็ไม่มีสิทธิโต้แย้งดุจเดียวกัน คำให้การต่อสู้คดีของจำเลยทั้งห้าล้วนเป็นข้อต่อสู้เกี่ยวกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินทั้งสิ้น การที่จำเลยทั้งห้าไม่มีสิทธิยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ในคดีนี้ จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นแห่งคดีได้
เมื่อจำเลยทั้งห้าเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ ส. ซึ่งต้องรับไปทั้งทรัพย์สิน สิทธิหน้าที่และความรับผิดของ ส. โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าโดยไม่ต้องคำนึงว่ากองมรดกของ ส. จะมีทรัพย์สินหรือไม่ มากน้อยเพียงใด หรือจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทจะได้รับมรดกมาแล้วหรือไม่ และถึงแม้โจทก์ได้ใช้อำนาจยึดอายัดทรัพย์สินของ ส. ชำระหนี้ไปบ้างแล้ว และมีจำนวนเพียงพอชำระหนี้ของ ส. หรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งห้าอาจโต้แย้งได้ในชั้นบังคับคดี จำเลยทั้งห้าจึงต้องรับผิดชำระหนี้ของ ส. แก่โจทก์ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601
(วรรคแรก ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2547)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในฐานะทายาทของนายสมบูรณ์ร่วมกันชำระค่าภาษีอากรจำนวน 15,201,256.51 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนอันถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2541 หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า คดีก่อนอันถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเป็นคดีที่นายสมบูรณ์เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กับขอให้จำเลยคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้หักไว้ ณ ที่จ่ายเกิน ตลอดจนขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวให้การต่อสู้ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเป็นประเด็นที่ศาลในคดีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2541 ส่วนคดีนี้แม้โจทก์จะนำหนี้ภาษีอากรค้างในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งห้าให้รับผิด แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ยกข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า หนี้ภาษีอากรค้างที่นายสมบูรณ์เป็นหนี้อยู่แก่โจทก์ในคดีดังกล่าวนั้น นายสมบูรณ์ยังมิได้ชำระแก่โจทก์โดยครบถ้วน และนายสมบูรณ์ได้ถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมบูรณ์มีหน้าที่จะต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวของนายสมบูรณ์แก่โจทก์ โดยจะต้องนำทรัพย์สินกองมรดกของนายสมบูรณ์ที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งห้ามาชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ได้เตือนให้จำเลยทั้งห้าชำระแล้ว แต่เพิกเฉย และมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทของนายสมบูรณ์ร่วมกันชำระค่าภาษีอากรที่นายสมบูรณ์ยังมิได้ชำระแก่โจทก์ ประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงมีว่า จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายสมบูรณ์มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีอากรของนายสมบูรณ์แก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับประเด็นในคดีก่อนที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2541 ดังกล่าว จริงอยู่แม้จำเลยทั้งห้าอยู่ในฐานะเป็นผู้สืบสิทธิของนายสมบูรณ์ผู้ตายดังความเห็นของศาลภาษีอากรกลางก็ตาม แต่สภาพแห่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนายสมบูรณ์ให้รับผิดในหนี้ที่นายสมบูรณ์มีอยู่แล้วแก่โจทก์ซึ่งเป็นความรับผิดของทายาทโดยเฉพาะต่อกองมรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 กรณีเช่นนี้จึงมิใช่เรื่องที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนอันถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2541 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกายังเห็นต่อไปด้วยว่า แม้คดีที่นายสมบูรณ์เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยดังกล่าว ศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2541 ที่พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง โดยให้งดเบี้ยปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าให้แก่นายสมบูรณ์โจทก์ในคดีนั้นทั้งหมด อันมีผลให้หนี้ภาษีอากรดังกล่าวเป็นหนี้ภาษีอากรค้าง ซึ่งอธิบดีโจทก์มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของนายสมบูรณ์ได้เองตาม ป. รัษฎากร มาตรา 12 วรรคสอง โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่งก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายหนึ่งที่บัญญัติให้อำนาจแก่อธิบดีโจทก์ไว้เป็นพิเศษเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วโดยไม่ต้องนำคดีมาสู่ศาล อำนาจของอธิบดีโจทก์เช่นว่านี้แม้จะมีลักษณะเสมือนเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ก็หามีผลทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ภาษีอากรค้างกลับกลายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไปไม่ ทั้งการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายสมบูรณ์ผู้ตายเช่นนี้ ก็เพื่อให้ความรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างของนายสมบูรณ์ที่จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดแก่โจทก์ เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้ได้
จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมบูรณ์ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายสมบูรณ์ จำเลยทั้งห้าจึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสมบูรณ์ผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคสอง และมาตรา 1629 (1) และอยู่ในลำดับมีสิทธิได้รับมรดกของนายสมบูรณ์ด้วยกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 1635 (1) เมื่อกองมรดกของนายสมบูรณ์ตกทอดแก่จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นทายาท และกองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 โจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องบังคับจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทของนายสมบูรณ์ให้รับผิดชำระหนี้ภาษีอากรค้างของนายสมบูรณ์ที่มีต่อโจทก์ได้ และหนี้ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งห้ารับผิดเป็นหนี้ค่าภาษีอากรที่เจ้าพนักงานได้ประเมินให้นายสมบูรณ์ชำระ นายสมบูรณ์ได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้ว นายสมบูรณ์ก็ได้อุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลางโดยฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยขอให้ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1967/2541 ซึ่งพิพากษาแก้เพียงให้งดเบี้ยปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าให้แก่นายสมบูรณ์ทั้งหมด หนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าวจึงเป็นหนี้ภาษีอากรค้างที่นายสมบูรณ์เป็นผู้มีหน้าที่ต้องรับผิดเสียภาษีอากรดังกล่าวโดยเด็ดขาดแล้ว และคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดย่อมมีผลผูกพันโจทก์คดีนี้และนายสมบูรณ์ซึ่งเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาในคดีนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 นายสมบูรณ์จึงไม่อาจรื้อฟื้นโต้แย้งต่อโจทก์เกี่ยวกับการประเมินภาษีอากรดังกล่าวอีกได้ และในกรณีเช่นนี้ จำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทของนายสมบูรณ์ซึ่งต้องรับไปซึ่งทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ อันเป็นกองมรดกของผู้ตาย และอยู่ในฐานะผู้สืบสิทธิในกองมรดกของนายสมบูรณ์ก็ไม่มีสิทธิโต้แย้งเกี่ยวกับการประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานของโจทก์ดุจเดียวกัน เมื่อคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ดังกล่าวข้างต้น ล้วนเป็นข้อต่อสู้เกี่ยวกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินทั้งสิ้น การที่จำเลยทั้งห้าไม่มีสิทธิยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ในคดีนี้ จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นแห่งคดีที่จำเลยทั้งห้าจะโต้เถียงให้ฟังแปรเปลี่ยนไปเป็นประการอื่นได้
เมื่อจำเลยทั้งห้าเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายสมบูรณ์ผู้ตายซึ่งต้องรับไปทั้งทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดของนายสมบูรณ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทของนายสมบูรณ์ให้รับผิดในหนี้ของนายสมบูรณ์ได้ดังที่วินิจฉัยมาแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่ากองมรดกของนายสมบูรณ์จะมีทรัพย์สินหรือไม่ มากน้อยเพียงใด หรือจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทจะได้รับมรดกมาแล้วหรือไม่ และถึงแม้โจทก์ได้ใช้อำนาจสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของนายสมบูรณ์ชำระหนี้ไปบ้างแล้ว และมีจำนวนเพียงพอชำระหนี้ของนายสมบูรณ์หรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งห้าอาจโต้แย้งได้ในชั้นบังคับคดีต่อไป จำเลยทั้งห้าจึงต้องรับผิดชำระหนี้ของนายสมบูรณ์แก่โจทก์ตามฟ้อง
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทของนายสมบูรณ์ร่วมกันชำระเงินจำนวน 15,201,256.51 บาท แก่โจทก์ ทั้งนี้ความรับผิดของจำเลยทั้งห้าไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 ให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าทนายความทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share