คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5278/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และได้มาระหว่างจำเลยที่ 1 และ ผ. เจ้ามรดกเป็นคู่สมรส กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) ว่าเป็นสินสมรส
ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง เป็นมรดกของ ผ. กึ่งหนึ่งตกได้แก่ทายาทโดยธรรม ดังนั้นการได้ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงของทายาทโดยธรรมจึงเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ผ. เป็นผู้แทนของทายาทโดยธรรมมีสิทธิจดทะเบียนการได้มาที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงได้ก่อน เมื่อโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนการได้มาจึงต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนของจำเลยร่วมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2541 เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย กึ่งหนึ่งในที่ดินโฉนดเลขที่ 8159, 8160, 11674 และ 11675 ดังกล่าว เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2542 เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่งในที่ดินทั้ง 4 แปลง ดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบและโอนที่ดินทั้ง 4 แปลง เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่งในที่ดินทั้ง 4 แปลง โดยปลอดภาระจำนอง หากจำเลยทั้งสี่ไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หรือไถ่ถอนจำนองให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่โดยให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการจดทะเบียนโอน และไถ่ถอนจำนองทั้งสิ้น หากสภาพบังคับไม่เปิดช่องให้บังคับได้ก็ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และนางสาวจันทรกานต์ เกิดนวล(จำเลยร่วม) ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินทั้ง 4 แปลง จากจำเลยที่ 2 ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นโดยไม่ชำระค่าตอบแทนและไม่สุจริต ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ราคาที่ดินให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตามฟ้องทั้ง 4 แปลง จากจำเลยที่ 4 แล้วจดทะเบียนขายโดยไม่ชำระค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริตแก่นางสาวจันทรกานต์ ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 กับขอให้เรียกนางสาวจันทรกานต์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วมและขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายระหว่างจำเลยที่ 2 และนางสาวจันทรกานต์เฉพาะส่วนของจ่าสิบเอกผาด ผู้ตายกึ่งหนึ่ง แล้วจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์หากไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับให้เรียกนางสาวจันทรกานต์เข้าเป็นจำเลยร่วม
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วม โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกจำเลยที่ 2 ทายาทของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 เป็นคู่ความแทน
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับเป็นว่า ให้กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้ได้มรดกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 8159, 8160, 11674 และ 11675 ตำบลนครสวรรค์ (ปากน้ำโพ) (ที่ถูก ตำบลนครสวรรค์ตก (ปากน้ำโพ)) อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนที่เป็นของจ่าสิบเอกผาด เจ้ามรดกกึ่งหนึ่ง ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของจ่าสิบเอกผาด เจ้ามรดกกึ่งหนึ่งตามสัญญาให้ลงวันที่ 4 กันยายน 2541 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินลงวันที่ 27 มีนาคม 2543 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วม ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยร่วม ร่วมกันส่งมอบและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ดังกล่าวในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของจ่าสิบเอกผาด เจ้ามรดกกึ่งหนึ่ง ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยร่วมไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา คำขอนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 13,000 บาท
จำเลยร่วมฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา นางวีณา ในฐานะผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 และในฐานะจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย นางสาวยุวดี บุตรสาวของจำเลยที่ 2 ขอเข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์และจำเลยร่วมไม่คัดค้าน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมว่า ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์มีพยานคือตัวโจทก์และนายประดิษฐ์ ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบเอกผาดเบิกความยืนยันว่า ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง จ่าสิบเอกผาดเป็นผู้ซื้อโดยวิธีผ่อนชำระ แต่ให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว เงินที่ผ่อนชำระเป็นเงินเดือนและรายได้พิเศษจากการทำหน้าที่จัดการร้านค้าสโมสรทหารของค่ายจิระประวัติกับดอกเบี้ยเงินกู้ จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่แม่บ้านไม่ได้ประกอบอาชีพ นอกจากนี้โจทก์ยังมีจ่าสิบเอกเฉลิมเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า รู้จักกับจ่าสิบเอกผาดเนื่องจากรับราชการหน่วยเดียวกัน จ่าสิบเอกผาดมีหน้าที่ขายเครื่องอุปโภคบริโภคอยู่ที่สโมสรทหารรวมทั้งออกเงินให้กู้ จำเลยที่ 1 เป็นภริยาจ่าสิบเอกผาดทำหน้าที่แม่บ้าน จ่าสิบเอกผาดมีฐานะดีกว่าผู้รับราชการด้วยกัน คำของโจทก์ นายประดิษฐ์และจ่าสิบเอกเฉลิมสอดคล้องต้องกันว่า นอกจากรายได้จากเงินเดือนแล้วจ่าสิบเอกผาดยังทำหน้าที่พิเศษในร้านค้าสโมสรทหารกับปล่อยเงินกู้ โจทก์และนายประดิษฐ์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบเอกผาดและอยู่อาศัยด้วยกันในบ้านพักของทางราชการกับจ่าสิบเอกผาดและจำเลยที่ 1 ย่อมจะทราบความเป็นไปและฐานะในครอบครัวของจ่าสิบเอกผาด ส่วนจ่าสิบเอกเฉลิมรับราชการที่เดียวกับจ่าสิบเอกผาดย่อมจะทราบว่าจ่าสิบเอกผาดมีฐานะอย่างไรและมีหน้าที่การงานอย่างใด คำของโจทก์ นายประดิษฐ์และจ่าสิบเอกเฉลิมมีน้ำหนักให้รับฟัง จำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ที่ดินพิพาทในคดีนี้จ่าสิบเอกผาดใช้เงินของจ่าสิบเอกผาดซึ่งเป็นเงินผ่อนโดยได้จากเงินเดือนและการค้าขายของจ่าสิบเอกผาด คำของจำเลยที่ 1 จึงเจือสมกับคำพยานของโจทก์ดังกล่าว ส่วนจำเลยร่วมคงมีแต่จำเลยร่วมเบิกความเพียงว่า ก่อนที่ดินจะเป็นของจำเลยที่ 2 มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ก็ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 คำของจำเลยร่วมจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ประกอบกับที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ได้มาระหว่างจ่าสิบเอกผาดและจำเลยที่ 1 เป็นคู่สมรส กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) ว่าเป็นสินสมรส พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานจำเลยร่วม ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง เป็นสินสมรสของจ่าสิบเอกผาดและจำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยร่วมฎีกาในทำนองว่าจ่าสิบเอกผาดและจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาระหว่างสมรสแบ่งทรัพย์สินกันโดยให้ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยร่วมไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ จึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดี แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ก็วินิจฉัยว่าเป็นเรื่องนอกประเด็น จำเลยร่วมไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยร่วมว่า จำเลยร่วมรับโอนที่ดินพิพาทโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตหรือไม่ โจทก์คงมีแต่ตัวโจทก์เบิกความว่า ทนายโจทก์ได้ยื่นหลักฐานต่อทางราชการขอถ่ายเอกสารและรับรองสำเนาเอกสารปรากฏตามสำเนาคำขอเอกสารหมาย จ.13 ดังนั้น ในการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วม จำเลยร่วมน่าจะทราบว่า ทางผู้จัดการมรดกของจ่าสิบเอกผาดกำลังรวบรวมทรัพย์มรดก และราคาที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ซื้อขายในราคา 1,200,000 บาท ซึ่งความจริงราคาที่ดิน 1,300,000 บาท จึงต่ำกว่าความจริง ตามคำของโจทก์ดังกล่าวเท่ากับโจทก์ยอมรับว่าการโอนมีค่าตอบแทนแต่ไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยร่วมทราบว่าที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง เป็นทรัพย์มรดก เอกสารหมาย จ.13 ก็ไม่ได้ระบุว่า ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง เป็นทรัพย์มรดก ทั้งเอกสารหมาย จ.13 ก็เป็นเพียงเอกสารตามปกติทั่วไปซึ่งเก็บไว้ ที่สำนักงานที่ดินตามระเบียบราชการเท่านั้นไม่ได้เป็นเอกสารที่มีลักษณะพิเศษที่บุคคลภายนอกจะสนใจ แม้หากบุคคลใดพบเห็นก็ไม่อาจทราบได้ว่าที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง เป็นสินสมรสระหว่างจ่าสิบเอกผาดกับจำเลยที่ 1 อนึ่ง ราคาที่ดิน 1,300,000 บาท เป็นเพียงราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดิน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 เพื่อใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเท่านั้น ซึ่งก็ไม่สูงกว่าราคา 1,200,000 บาท ตามที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนขายให้แก่จำเลยร่วม เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2543 ซึ่งเป็นวันก่อนที่เจ้าพนักงานจะประเมินเกือบ 1 ปี มากนัก จำเลยร่วมก็เบิกความยืนยันว่า ซื้อจากจำเลยที่ 2 ในราคา 2,300,000 บาท แต่เจ้าพนักงานที่ดินให้ระบุในราคาที่จดทะเบียนตามราคาประเมิน ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความตอบทนายจำเลยร่วมถามค้านทำนองเดียวกัน คำเบิกความดังกล่าวสมเหตุสมผลและเป็นข้อที่ทราบกันโดยทั่วไปในกลุ่มของบุคคลผู้ค้าที่ดินว่าราคาที่จดทะเบียนซื้อขายที่ดินมักจะคิดตามราคาประเมินที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระค่าธรรมเนียมให้น้อยลง ดังนี้ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยร่วมรับโอนที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง โดยไม่สุจริตประกอบกับโฉนดที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ไม่ปรากฏชื่อของจ่าสิบเอกผาด เมื่อจำเลยที่ 1 โอนให้จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 เคยนำไปจำนองแก่ธนาคารจำเลยที่ 4 เพื่อประกันหนี้จำเลยที่ 3 ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่า บุคคลภายนอกย่อมเชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวก่อนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี จำเลยร่วมมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ทั้งที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ การที่จำเลยร่วมสืบทราบแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีชื่อในทางทะเบียนโดยไม่ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงไปจำนองไว้แก่ธนาคารจำเลยที่ 4 เพื่อเป็นประกันหนี้ จำเลยร่วมเพิ่งจะทราบในวันจดทะเบียนรับโอนโดยจำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองและขายให้แก่จำเลยร่วมในวันเดียวกันก็เป็นเรื่องปกติทั่วไป ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าจำเลยร่วมไม่สุจริต หาเป็นข้อพิรุธว่าจำเลยร่วมไม่สุจริตดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยไม่ จำเลยร่วมมีหลักฐานแคชเชียร์เช็คราคา 1,000,000 บาท ที่สั่งจ่ายให้แก่จำเลยที่ 2 ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนว่าการโอนที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ระหว่างจำเลยร่วมและจำเลยที่ 2 เป็นการโอนมีค่าตอบแทน นอกจากนี้เมื่อจำเลยร่วมรับโอนมาแล้ว ยังได้ขอรวมโฉนดที่ดินเป็นแปลงเดียว และว่าจ้างให้นายวิชัย มาทำการถมที่ดินเพื่อทำการก่อสร้างหอพักโดยนายวิชัยก็เบิกความยืนยันว่าได้รับจ้างถมที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ก็เบิกความว่า ที่ดินพิพาทมีลักษณะเป็นบึงและป่า จึงเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่าคำของจำเลยร่วมมีน้ำหนักยิ่งขึ้นว่าจำเลยร่วมกระทำการโดยสุจริต ยิ่งกว่านั้นขณะจ่าสิบเอกผาดมีชีวิต จ่าสิบเอกผาดก็ไม่ดำเนินการใส่ชื่อจ่าสิบเอกผาดในโฉนดที่ดินให้ปรากฏตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1475 ครั้นเมื่อจ่าสิบเอกผาดถึงแก่ความตาย และศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ก็ไม่ดำเนินการขออายัดที่ดินไว้เป็นหลักฐานเพื่อป้องกันมิให้จำหน่ายจ่ายโอนที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ ว่าที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ไม่ใช่มรดกของจ่าสิบเอกผาด นับว่าจ่าสิบเอกผาดและโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้บุคคลภายนอกไม่อาจทราบได้ว่าที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง กึ่งหนึ่งเป็นของจ่าสิบเอกผาด พยานหลักฐานที่จำเลยร่วมนำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานโจกท์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยร่วมรับโอนที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง โดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตและจดทะเบียนโดยสุจริต ฎีกาของจำเลยร่วมข้อนี้ฟังขึ้น ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง กึ่งหนึ่งเป็นมรดกตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของจ่าสิบเอกผาด ดังนั้นการได้ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงของทายาทโดยธรรมจึงเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบเอกผาดเป็นผู้แทนของทายาทโดยธรรมมีสิทธิจดทะเบียนการได้มาที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ได้ก่อน เมื่อโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนการได้มาจึงต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนของจำเลยร่วมได้ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยร่วมข้อนี้ฟังขึ้น แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ฎีกา แต่มูลความแห่งคดีระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยร่วมเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้ได้มรดกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 8159, 8160, 11674 และ 11675 ตำบลนครสวรรค์ตก (ปากน้ำโพ) อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนที่เป็นของจ่าสิบเอกผาด เจ้ามรดกกึ่งหนึ่ง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยร่วมให้เป็นพับ

Share