คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5272/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เหตุไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 14 เป็นเรื่องที่ต้องยกขึ้นว่ากล่าวก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ดังนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด คดีส่วนดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้วจนถึงขั้นพิจารณาคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย จึงเป็นการล่วงเลยขั้นตอนที่จะหยิบยกเหตุดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย เมื่อศาลชั้นต้นไม่เห็นชอบด้วยการประนอมหนี้จึงต้องพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายตามมาตรา 61

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด จำเลยทำคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย และที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ลงมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ของจำเลยแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอรายงานการประนอมหนี้ กิจกรรมทรัพย์สินและความประพฤติของจำเลยต่อศาลชั้นต้น เพื่อพิจารณาคำขอประนอมหนี้ ศาลชั้นต้นไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้ว

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยการประนอมหนี้และพิพากษาให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 61

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้หยิบยกเหตุที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14 มาพิพากษายกฟ้องโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังที่จำเลยฎีกาหรือไม่ เห็นว่า ในการยื่นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ขึ้นมา2 ประการ กล่าวคือ ไม่มีเหตุที่จะถือว่าจำเลยทุจริตดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประการหนึ่ง และคดีมีเหตุไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายเนื่องจากมีการแก้ไขกฎหมายล้มละลายโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 กำหนดจำนวนหนี้ขั้นต่ำที่จะฟ้องคดีล้มละลายไว้ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท และในคดีมีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เพียง 4 ราย ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8หยิบยกมาตรา 14 ขึ้นพิจารณาอีกประการหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 8ได้วินิจฉัยเฉพาะปัญหาประการแรก ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทุจริตที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยการประนอมหนี้นั้นชอบแล้วแต่ยังมิได้วินิจฉัยในปัญหาที่สองว่าจำเลยจะสามารถขอให้ศาลยกเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามมาตรา 14 มาพิจารณาในชั้นขอประนอมหนี้ได้หรือไม่ อย่างไร จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตาม มาตรา 243(1) และมาตรา 247ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็วสมดั่งเจตนารมณ์ของกฎหมายล้มละลาย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวนี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยก่อน และเห็นว่า ในการพิจารณาคดีล้มละลายนั้น กฎหมายได้กำหนดลำดับขั้นตอนไว้อย่างชัดเจนแล้วกล่าวคือ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 14 ลูกหนี้มีสิทธิทำคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายตามมาตรา 45 เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขอต่อศาลให้สั่งว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาในชั้นนี้ ห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายหากมีข้อเท็จจริงตามมาตรา 53 และมาตรา 54 ในคดีนี้หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว จำเลยทำคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ลงมติพิเศษยอมรับ ในชั้นพิจารณาว่าจะเห็นชอบกับการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายหรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาเพียงแต่ว่ามีเหตุที่ห้ามมิให้ศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหรือไม่เท่านั้นซึ่งในปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับจำเลยทุจริตหรือไม่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่า จำเลยกระทำการทุจริต จำเลยมิได้ฎีกา จึงเป็นอันยุติไป ส่วนที่ว่าจะมีเหตุไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหรือไม่ตามมาตรา 14 นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องยกขึ้นว่ากล่าวก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด เช่นนี้ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด คดีส่วนดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้วจนถึงขั้นพิจารณาคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย จึงเป็นการล่วงเลยขั้นตอนที่จะหยิบยกเหตุดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นไม่เห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ แล้วจึงพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 61 จึงชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share