แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ โดยมิได้ให้การปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบในข้อนี้อีก แม้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 2 จะให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างหรือใช้จำเลยที่ 1 ให้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้าง แต่เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ไปแล้ว คดีย่อมไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 อีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบีน 3 ษ – 1155 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายสมชาย เสถียร วงศ์พิพัฒน์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2539 เวลาประมาณ 23.45 นาฬิกา ขณะที่สิบตำรวจเอกเสน่ห์ มุกขุนทด ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไปตามทางลงของทางด่วนสายรามอินทรา – เอกมัย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 – 6038 ฉะเชิงเทรา ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 สวนทางขึ้นไปบนทางลงของทางด่วนดังกล่าวด้วยความประมาทเลินเล่อ ชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย เป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 2 โจทก์ซ่อมแซมรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันเรียบร้อยแล้ว จึงเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 612,809 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้แนบสำเนากรมธรรม์มาพร้อมคำฟ้องทำให้จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ขณะเกิดเหตุรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไม่ได้อยู่ในความครอบครองของผู้เอาประกันภัย ไม่มีผลผูกพันที่โจทก์จะต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 เพื่อนำทรายไปส่งในบริเวณซึ่งกำลังก่อสร้างทางและจอดรถสนิทแล้วโดยเปิดสัญญาณไฟกระพริบไว้ เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของสิบตำรวจเอกเสน่ห์ มุกขุนทด ฝ่ายเดียวที่ขับรถยนต์ด้วยเร็วสูงจนไม่สามารถห้ามล้อหรือเปลี่ยนช่องทางเดินรถได้ทัน เป็นเหตุให้ชนรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 อย่างไรก็ตาม หากศาลฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนผิดอยู่ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 ในวงเงิน 250,000 บาท และรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเสียหายไม่เกินจำนวนดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า นายสมชาย เสถียรวงศ์พิพัฒน์ มิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน 3 ษ – 1155 กรุงเทพมหานคร ที่จะทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์ได้ และความจริงแล้วโจทก์ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างหรือใช้จำเลยที่ 1 ให้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 1 มิได้ประมาทเลินเล่อ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินจริง โจทก์ยังมิได้ซ่อมแซมรถยนต์หรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย จึงยังไม่ได้รับช่วงสิทธิ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหาย 250,000 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว ศาลชั้นต้นอนุญาตและมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 320,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 26 พฤศจิกายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 320,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแก่โจทก์ สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน 3 ษ – 1155 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายสมชาย เสถียรวงศ์พิพัฒน์ ซึ่งขณะเกิดเหตุสิบตำรวจเอกเสน่ห์ มุกขุนทด ขับไปชนกับรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 – 6038 กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ โดยจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ และโจทก์ซ่อมแซมรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเรียบร้อยแล้ว คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โดยวินิจฉัยว่าโจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและขับรถยนต์บรรทุกคัรเกิดเหตุไไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 นั้น ชอบหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีภาระการพิสูจน์และต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้อง แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จึงชอบแล้วนั้น เห็นว่า ในการให้การต่อสู้คดี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติให้จำเลยต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 คงให้การต่อสู้โต้เถียงข้ออ้างของโจทก์ในเรื่องอื่น โดยมิได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนและมิได้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องแล้ว โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบในข้อนี้อีก แม้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 2 จะให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างหรือใช้จำเลยที่ 1 ให้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ไปแล้ว คดีย่อมไม่มีประเด็นที่ศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 อีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบและข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างจึงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนโจทก์.