คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 526/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยต่างอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองที่ดิน ต่อมาโจทก์เข้าปลูกต้นกล้วยและปักเสารั้วในที่ดิน จำเลยตัดฟันเสียเช่นนี้ ถือว่าเป็นการทำลายทรัพย์ของโจทก์ มีผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 แล้ว เพราะหากจำเลยจะถือว่าการกระทำของโจทก์เป็นการแย่งการครอบครอง จำเลยก็ชอบที่จะฟ้องร้องเอาคืนการครอบครองในทางศาล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองบังอาจร่วมกันรื้อเสาไม้แก่นที่โจทก์ฝังลงไว้เพื่อจะทำเป็นเสารั้วสวนของโจทก์ออกทิ้ง ๑๐ ต้น และใช้มีดฟันเสาดังกล่าวเสียหาย ๑๕ บาท กับใช้มีดฟันต้นกล้วยที่โจทก์ปลูกในสวนของโจทก์ ๔ ต้น ราคา ๔ บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘, ๘๓
จำเลยให้การว่า ที่สวนนั้นเป็นของจำเลย มีไม้ยืนต้นและล้อมรั้วไว้ วันที่โจทก์หา โจทก์สมคบกับพวกบุกรุกจะเข้ายึดถือที่ดินของจำเลย จำเลยห้ามปรามขัดขวางไม่ได้ โจทก์ปลูกต้นกล้วยลงในที่ดินของจำเลย และไม่ให้โจทก์นำรั้วมาปัก ซึ่งจำเลยมีอำนาจป้องกันได้
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยทั้งสองมีมีดโต้เข้าไปฟันและถอนหลักรั้ว กับฟันต้นกล้วยที่โจทก์กับพวกกำลังปลูกอยู่ในขณะเกิดเหตุจริง ที่ดินที่โจทก์กับพวกนำต้นกล้วยไปปลูกและนำหลักไปปักเป็นรั้วนั้น มีรั้วล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน จำเลยเป็นผู้ทำรั้วนี้ จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดิน การที่โจทก์เอาหลักไปปักในรั้วของจำเลยและเอาต้นกล้วยไปปลูกในที่ดินจำเลยเป็นการรบกวนสิทธิครอบครองของจำเลย เมื่อจำเลยห้ามปรามแล้วไม่เชื่อฟัง จำเลยก็จำเป็นที่จะป้องกันขัดขวางมิให้เข้าไปรบกวนสิทธิของจำเลย จะถือว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาทำลายทรัพย์ของโจทก์ก็ไม่ถนัด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์จำเลยเคยพิพาทกันเกี่ยวกับที่พิพาทนี้หลายครั้ง เรื่องถึงอำเภอ อำเภอเปรียบเทียบให้พี่พิพาทเป็นของโจทก์ และให้โจทก์ใช้ค่ากอไผ่ให้จำเลย ๑๒่บาท จำเลยไม่ยอม อำเภอสั่งให้จำเลยฟ้อง แต่จำเลยก็ไม่ฟ้อง ตามพฤติการณ์คดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่พิพาท เมื่อจำเลยไม่ฟ้องตามคำสั่งอำเภอ โจทก์อาจเข้าใจว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองจึงเข้าไปปลูกกล้วยและปักรั้ว จำเลยมาถอนและฟันรั้ว ต้นกล้วยของโจทก์เช่นนี้ เห็นว่า จำเลยไม่มีอำนาจทำได้โดยพละการ เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวในทางแพ่งว่าที่พิพาทเป็นของฝ่ายใด เห็นได้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาทำลายทรัพย์ของโจทก์ จะอ้างเหตุกระทำโดยป้องกันสิทธิหาได้ไม่ พิพากษากลับว่าจำเลยทั้งสองผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘ ปรับคนละ ๒๐ บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ประเด็นในคดีอาญานี้มีแต่เพียงว่า จำเลยได้ทำลายทรัพย์ของโจทก์จริงหรือไม่ และจำเลยมีอำนาจทำได้หรือไม่ แม้มูลเหตุจะเกิดจากการพิพาทเรื่องที่ดินต่างอ้างว่า ตนมีสิทธิครอบครองก็ตาม ยังไม่จำต้องวินิจฉัยว่าที่ดินเป็นของใคร เพราะจำเลยไม่มีอำนาจอันใดที่จะทำลายทรัพย์ของผู้อื่น หากจะถือว่าปลูกต้นกล้วยและปักรั้วเป็นการแย่งการครอบครองในกรณีที่ต่างโต้เถียงสิทธิครอบครองกันเช่นนี้ จำเลยก็ต้องฟ้องร้องเอาคืนการครอบครองเหตุว่าที่ดินยังคงมีอยู่ไม่สูญหายไปไหน ใครมีสิทธิในที่ดินนั้นเป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวกันในทางศาล จำเลยตัดฟันต้นกล้วยและเสารั้วของโจทก์ เป็นการทำลายทรัพย์ของโจทก์ จำเลยต้องมีผิดดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
พิพากษายืน

Share