คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5256/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ป. ประมูลซื้อทรัพย์พิพาท คือ ที่ดินพร้อมตึกแถวได้จากการขายทอดตลาดในการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล ป. ได้โอนขายทรัพย์พิพาทให้ผู้ร้องโดยผู้ร้องได้รับโอนโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต ต่อมาศาลพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดต้องถือเสมือนว่าไม่มีการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทและไม่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทให้แก่ ป. และผู้ร้อง แม้ ป. เองก็ยังไม่ได้รับความคุ้มครอง เพราะกรณีไม่ต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1330 ผู้ร้องไม่อาจอ้างว่าผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกได้ซื้อทรัพย์พิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริตคำพิพากษาที่เพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ผูกพันผู้ร้องได้ เมื่อ ป.ผู้โอนไม่มีสิทธิในทรัพย์สินพิพาทแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน และอีกประการหนึ่งการที่มีการโอนทรัพย์พิพาทดังกล่าว ก็เป็นการโอนทรัพย์พิพาทไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 แต่การเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเป็นเรื่องการเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีอีกเรื่องหนึ่งหาเกี่ยวข้องกันไม่ผู้ร้องจึงไม่ได้รับความคุ้มครอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน393,236.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของเงิน350,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ถ้าหากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 90339 แขวงหัวหมากเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือบ้านตึกสองชั้นเลขที่ 22 ออกขายทอดตลาด หากขายแล้วไม่พอชำระหนี้โจทก์ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระจนครบกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาทจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวของจำเลยออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองปรากฏว่านายประสิทธิ์ จงอัศญากุล เป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาด จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทในราคาต่ำเกินไป ทั้งการขายทอดตลาดดำเนินการไปโดยมิชอบ จึงขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย จำเลยอุทธรณ์คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิ ให้ดำเนินการจดทะเบียนระงับการจำนองแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทให้แก่นายประสิทธิ์ผู้ซื้อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อไป หลังจากนายประสิทธิ์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ต่อมาได้ขายทรัพย์พิพาทให้ผู้ร้องในราคา 570,000 บาท ผู้ร้องจึงทำเรื่องขอกู้เงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบางพลีเมืองใหม่ เพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและต่อเติมอาคารที่ซื้อเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและประกอบการค้าในวงเงิน 450,000 บาท เมื่อธนาคารอนุมัติแล้ว ในวันที่ 23 มกราคม 2532 ผู้ร้องกับนายประสิทธิ์จึงได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกัน ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาบางกะปิ และในวันเดียวกันนี้เอง ผู้ร้องก็ได้ทำสัญญาจำนองทรัพย์พิพาทไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด เป็นจำนวนเงิน 450,000บาท ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นโดยเห็นว่าราคาที่ขายทรัพย์พิพาทต่ำไป จึงให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี คดีถึงที่สุด
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งหมายแจ้งให้ผู้ร้องส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินเลขที่ 90339 คืนไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดี และแจ้งไปด้วยว่า หากผู้ร้องจะคัดค้านให้คัดค้านต่อศาล ผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกซื้อทรัพย์พิพาทโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยถูกต้อง ผู้ร้องจึงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายขอให้มีคำสั่งให้ระงับการเรียกต้นฉบับโฉนดของเจ้าพนักงานบังคับคดีและมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโดยชอบ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นผู้รับโอนทรัพย์พิพาทมาจากนายประสิทธิ์ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด เมื่อศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวของเจ้าพนักงานบังคับคดีและคดีถึงที่สุดแล้ว แม้ผู้ร้องจะได้รับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนโดยสุจริตก็ตาม ก็ไม่อาจใช้ยันการเพิกถอนได้ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่านายประสิทธิ์ จงอัศญากุล ประมูลซื้อทรัพย์พิพาทได้จากการขายทอดตลาด คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 90339 และตึกสองชั้นเลขที่ 22บนที่ดิน จำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทในราคาต่ำและขายโดยมิชอบ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องจำเลยอุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ปรากฏว่านายประสิทธิ์ได้โอนขายทรัพย์พิพาทให้ผู้ร้องโดยผู้ร้องได้รับโอนโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริตและในวันเดียวกันกับที่ผู้ร้องรับโอน ผู้ร้องได้จำนองทรัพย์พิพาทไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบางพลีเมืองใหม่ ในวงเงิน 450,000 บาท ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาด คดีถึงที่สุดเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินพิพาทเพื่อดำเนินการต่อไปใหม่
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องต้องส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินพิพาทให้เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้เพิกถอนการขายทอดตลาดต้องถือเสมือนว่าไม่มีการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทและไม่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทให้แก่นายประสิทธิ์และผู้ร้องเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะดำเนินการบังคับคดีต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและมีอำนาจเรียกให้ผู้ร้องส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินพิพาทได้ การที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกได้ซื้อทรัพย์พิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต คำพิพากษาที่เพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ผูกพันผู้ร้องนั้น เห็นว่า แม้นายประสิทธิ์ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดเองก็ยังไม่ได้รับความคุ้มครอง เพราะกรณีไม่ต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 เมื่อนายประสิทธิ์ผู้โอนไม่มีสิทธิในทรัพย์พิพาทแล้ว ผู้ร้องในฐานะผู้รับโอนจะมีสิทธิได้อย่างไร ต้องตามหลักกฎหมายที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน และอีกประการหนึ่งการที่มีการโอนทรัพย์พิพาทที่ได้มาจากการขายทอดตลาดต่อไปอีกก็เป็นการโอนทรัพย์พิพาทไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 แต่การเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเป็นเรื่องการเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีอีกเรื่องหนึ่งหาเกี่ยวข้องกันไม่ ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่ได้รับความคุ้มครอง และต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินพิพาทแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share