แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เช็คผู้ถือมีรายการครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว แม้จะมีข้อความอื่นบันทึกไว้ด้านหลังเช็คและถูกขีดฆ่าก่อนที่โจทก์ได้รับมา ข้อความดังกล่าวก็หามีผลกระทบต่อเช็คไม่ และถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้เช็คมาโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
โจทก์เป็นธนาคารได้รับเช็คจากลูกค้าเพื่อชำระหนี้ตามปกติทางการค้า หาจำต้องมีหน้าที่ตรวจสอบถึงที่มาหรือฐานะของผู้สั่งจ่ายเช็คไม่ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์คบคิดกับลูกค้าฉ้อฉลจำเลย จำเลยต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คลงวันที่และสั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้อื่นเพื่อชำระหนี้ ต่อมาผู้ทรงเช็คได้สลักหลังเช็คดังกล่าวมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ เมื่อเช็คถึงกำหนด ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยให้การว่า มีผู้ว่าจ้างจำเลยให้ทำแม่พิมพ์กาน้ำและชำระเงินล่วงหน้าแก่จำเลย โดยให้จำเลยออกเช็คพิพาทไว้เป็นประกันการรับเงิน จำเลยมิได้ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาท ต่อมาผู้ว่าจ้างอ้างว่าสูญหาย โจทก์รับเช็คพิพาทโดยร่วมกับผู้ว่าจ้างฉ้อฉลจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่นายเซียวแซแซ่เฮ้ง ผู้ว่าจ้าง โดยได้ทำบันทึกไว้หลังเช็คพิพาทมีความว่า”จำเลยได้ทำพิมพ์กาน้ำและได้ขอเช็คจากแสงดาวการไฟฟ้าเอาไปซื้อเหล็กและค่าแรงก่อน” ต่อมาโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทไว้ แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์ได้รับเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือมาไว้ในครอบครองโดยที่ข้อความหลังเช็คถูกขีดฆ่าหมดแล้ว โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องตรวจสอบเช็คพิพาทเพิ่มเติม เพราะข้อความในเช็คพิพาทดังกล่าว หามีผลอย่างใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๙๙ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้เช็คพิพาทมาโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา ๙๐๕ ทั้งจำเลยมิได้แจ้งเรื่องที่ว่าเช็คหายให้โจทก์ทราบหรือแจ้งอายัดเช็คไว้ โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารและได้รับโอนเช็คจากลูกค้าไว้เพื่อชำระหนี้ตามปกติทางการค้า หาจำต้องมีหน้าที่ตรวจสอบถึงที่มาหรือฐานะของผู้สั่งจ่ายเช็คแต่ละฉบับที่ลูกค้าโอนให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ไม่ ถือไม่ได้ว่าโจทก์คบคิดกับลูกค้าฉ้อฉลจำเลย จำเลยต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาทต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙๐๐ วรรคแรก และมาตรา ๙๘๙ ประกอบด้วยมาตรา ๙๑๖
พิพากษายืน.