คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับการประเมินผลงานเป็นคะแนนที่ต่ำกว่าเกรด D ไม่อาจอ้างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมาเรียกร้องให้จำเลยปรับเพิ่มค่าจ้างตามฟ้องได้อยู่แล้ว ดังนี้สิทธิเรียกร้องค่าจ้างของโจทก์จะขาดอายุความหรือไม่ ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคดีได้ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 และเรียกจำเลยทั้งสิบสามสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสิบสามสำนวนฟ้องเป็นใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสิบสามเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย โดยมีวันเริ่มจ้างและอัตราค่าจ้างของโจทก์ทั้งสิบสามในแต่ละปีปรากฏตามคำฟ้องและเอกสารแนบท้ายคำฟ้อง โจทก์ทั้งสิบสามเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์ ในระหว่างปี 2543 จนถึงปี 2546 จำเลยได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้กับสหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์ 2 ฉบับ คือ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2542 (ที่ถูกคือ 2543) ซึ่งระบุไว้ในข้อ 3 ว่าด้วยเรื่องการเงินค่าจ้างประจำปี โดยพนักงานของจำเลยทุกคนจะได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีตามเกรด A B C D โดยเกรด D จะได้รับการปรับอยู่ที่ร้อยละหก และถือว่าเป็นเกรดต่ำที่สุดและมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 ไปจนถึงปี 2546 และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 22 ตุลาคาม 2546 ซึ่งระบุไว้ในข้อ 3 ว่าด้วยเรื่องการปรับเงินค่าจ้างประจำปี โดยพนักงานของจำเลยทุกคนจะได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีตามเกรด A B C D โดยเกรด D จะได้รับการปรับอยู่ที่ร้อยละหก และถือว่าเป็นเกรดที่ต่ำที่สุด และมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ไปจนถึงปี 2549 โจทก์ทั้งสิบสามมีสิทธิได้รับการปรับค่าจ้างประจำปีตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเพิ่มขึ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละหก ซึ่งเป็นอัตราขั้นต่ำสุดของข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้ การที่จำเลยไม่ปรับขึ้นค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสิบสามเป็นเวลา 1 ปีนั้นทำให้โจทก์ทั้งสิบสามเสียสิทธิอันพึงได้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามที่ได้ระบุไว้ในข้อ 3 และทำให้ฐานการคำนวณค่าจ้างประจำปีของปีถัดๆ ไปต้องผิดพลาดขอให้บังคับจำเลยปรับค่าจ้างประจำปีและจ่ายค่าจ้างประจำปีที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องและตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 ของโจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งสิบสามสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสิบสามไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์ทั้งสิบสามไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายเนื่องจากตามข้อตงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าพนักงานทุกคนจะต้องได้รับการปรับค่าจ้างประจำปี และไม่ได้ระบุว่าพนักงานที่ได้รับการประเมินต่ำกว่าเกรด D จะได้รับการปรับค่าจ้าง การที่มีพนักงานบางคนซึ่งมีผลการทำงานไม่ดี มีการป่วย สาย ลา ขาด มากในรอบปี จะได้คะแนนประเมินผลต่ำกว่า 51 คะแนน เป็นผลให้ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนนั้น เป็นระบบการประเมินที่เป็นที่ใช้กันทั่วไปในสากล เป็นสิทธิอำนาจของฝ่ายจัดการที่จะคงไว้ไม่เปลี่ยนแปลง โจทก์ทั้งสิบสามได้รับการประเมินผลต่ำกว่า 51 คะแนน หรือต่ำกว่าเกรด D จึงเป็นผลให้โจทก์ทั้งสิบสามไม่ได้รับการขึ้นเงินประจำปี 2544 และโจทก์บางคนไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนประจำปี 2545 ต่อมาเมื่อประมาณเดือนกันยายน 2546 ถึงเดือนตุลาคม 2546 สหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์ได้แจ้งข้อเรียกร้องให้จำเลยปรับเปลี่ยนการขึ้นเงินเดือนประจำปีใหม่ โดยให้ระบุว่าพนักงานที่ได้เกรด D และต่ำกว่าเกรด D จะได้รับการปรับเงินเดือนร้อยละหกทุกคน ซึ่งจำเลยตกลงตามข้อเรียกร้อง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2546 จึงได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยการปรับค่าจ้างประจำปีให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงาน ฉบับลงวันที่ 22 ตุลาคม 2546 มีความแตกต่างจากข้อตกลงฉบับเดิม คือ ฉบับลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 อย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 อย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 ในข้อ (4) ระบุว่า เกรด D ได้รับร้อยละหกในขณะที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 22 ตุลาคม 2546 ในข้อ (4) ระบุว่า เกรด D และต่ำกว่าได้รับร้อยละหกทุกคนเมื่อมีข้อตกลงฉบับใหม่เปลี่ยนไปจากข้อตกลงฉบับเดิม จำเลยและพนักงานทุกคนรวมทั้งโจทก์ทั้งสิบสามจึงต้องยึดถือตามบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ ต่อมาจำเลยก็ได้ขึ้นเงินเดือนประจำปีแก่โจทก์ทั้งสิบสามซึ่งได้คะแนนการประเมินต่ำกว่า 51 คะแนนหรือต่ำกว่าเกรด D ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับหลังนี้ โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 12 และที่ 13 เรียกค่าจ้างตามสำนวนที่ระบุไว้ในเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแต่ละคนนั้นมีอายุความ 2 ปี โจทก์ดังกล่าวฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2547 จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา สหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์ยื่นคำร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสิบสามเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยกับสหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามเอกสารหมาย จล.4 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2543 โดยข้อ 2 ระบุการขึ้นเงินประจำปีแต่ละปีแต่ละปีดังนี้ ปี 2541 ให้มีผลใช้บังคับในเดือนมกราคม 2541 โดยพนักงานเกรด A จะได้รับการขึ้นเงิน 7 เปอร์เซ็นต์ เกรด B จะได้รับการขึ้นเงิน 6 เปอร์เซ็นต์ เกรด C จะได้รับการขึ้นเงิน 5 เปอร์เซ็นต์ เกรด D จะได้รับการขึ้นเงิน 4 เปอร์เซ็นต์ ปี 2542 ให้มีผลใช้บังคับในเดือนมกราคา 2542 โดยพนักงานเกรด A จะได้รับการขึ้นเงิน 7 เปอร์เซ็นต์ เกรด B จะได้รับการขึ้นเงิน 6 เปอร์เซ็นต์เกรด C จะได้รับการขึ้นเงิน 5 เปอร์เซ็นต์ เกรด D จะได้รับการขึ้นเงิน 4 เปอร์เซ็นต์ ปี 2543 ให้มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2543 เป็นต้นไปให้ใช้ระบบ “โครงสร้างจำแนกตำแหน่ง” ในบริษัทฯ ซึ่งกำหนดเงือนไขเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการตามข้อ 2.3.1 ถึงข้อ 2.3.8 ซึ่งข้อ 2.3.3 ระบุคะแนนประเมินผลสุทธิเพื่อเทียบเกรดสำหรับการขึ้นค่าจ้างประจำปีกำหนดให้คะแนน 81 ถึง 100 คะแนน คือเกรด A คะแนน 71 ถึง 80 คะแนน คือเกรด B คะแนน 61 ถึง 70 คะแนนคือเกรด C คะแนน 51 ถึง 60 คะแนน เกรด D ต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 จำเลยกับสหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามเอกสารหมาย จล.5 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2546 โดยข้อ 3 ระบุเรื่องเงินขึ้นประจำปี ว่า “บริษัทฯ ตกลงปรังเงินค่าจ้างประจำปีของพนักงานเป็นระบบเปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างพนักงาน ดังนี้ (1) เกรด A ได้รับ 10 เปอร์เซ็นต์ (2) เกรด B ได้รับ 8 เปอร์เซ็นต์ (3) เกรด C ได้รับ 7 เปอร์เซ็นต์ (4) เกรด D ได้รับ 6 เปอร์เซ็นต์ การปรับค่าจ้างประจำปี ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 เป็นต้นไป” ภายหลังจากมีการใช้บังคับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวแล้ว ได้มีการประชุมระหว่างฝ่ายบริหารของจำเลยและฝ่ายสหภาพแรงงาน เรื่องที่เกี่ยวกับการปรับเงินขึ้นตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยตามรายงานการประชุมวันที่ 13 มีนาคม 2546 เอกสารหมาย จล.6 ระบุว่า “2.4 การปรับเงินขึ้นประจำปี 2544 และปี 2545 สหภาพแรงงานฯ นำเสนอในกรณีที่พนักงานไม่ได้ปรับเงินขึ้นประจำปี 2544 และปี 2545 ขอให้บริษัทฯ ปรับเงินขึ้นประจำปี 2544 และปี 2545 สรุป ฝ่ายบริหารจะนำไปพิจารณาใน 3 เดือน” ตามรายงานการประชุมวันที่ 13 มิถุนายน 2546 เอกสารหมาย จล.7 ระบุว่า “2.4 การปรับเงินขึ้นประจำปี 2544, 2545 สหภาพแรงงานฯ เสนอให้บริษัทฯ ปรับเงินขึ้นประจำปี 2545 จำนวนทั้งสิ้น 26 คน และปี 2544 จำนวน 17 คน นายไพฑูรย์ แก้วมณี ชี้แจงว่าบริษัทฯ ได้พิจารณาให้มีการปรับเงินขึ้นประจำปี 2545 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2546 จำนวน 14 คน และจำนวน 12 คน ที่เหลือบริษัทฯ จะมีการพิจารณาหลังจากวันที่ 1 มิถุนายน 2546 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2546 โดยบริษัทฯ จะพิจารณาเงื่อนไขการลา” และตามรายงานการประชุมวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 เอกสารหมาย จล.8 ระบุว่า “2.6 เรื่องการปรับเงินขึ้นประจำปี 2544 และปี 2545 สภาพแรงงานฯ ขอให้ดำเนินการปรับขึ้นประจำปี 2544 จำนวน 17 คน และปี 2545 จำนวน 12 คน ฝ่ายบริหารรับพิจารณา” ต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม 2546 จำเลยกับสหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามเอกสารหมาย จล.9 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2549 โดยข้อ 3 ระบุเรื่องเงินขึ้นประจำปีของลูกจ้างว่า “บริษัทฯ ปรับเงินค่าจ้างประจำปีของลูกจ้างเป็นระบบเปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างดังนี้ (1) เกรด A ได้รับ 10 เปอร์เซ็นต์ (2) เกรด B ได้รับ 8 เปอร์เซ็นต์ (3) เกรด C ได้รับ 7 เปอร์เซ็นต์ (4) เกรด D และต่ำกว่าได้รับ 6 เปอร์เซ็นต์ ทุกคน การปรับค่าจ้างประจำปีให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 เป็นต้นไป” ครั้นวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรี ผู้แทนบริษัทจำเลยและผู้แทนสหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์ได้ประชุมร่วมกันและบันทึกผลการประชุม ตามเอกสารหมาย จล.10 โดยข้อ 4 ระบุว่า “เรื่องการปรับเงินขึ้นประจำปี 2544, 2545 ให้ลูกจ้าง บริษัทฯ ยืนยันที่จะไม่ปรับขึ้น” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2536 จำเลยกับสหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2536 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2538 โดยข้อ 5.2 ระบุว่า “บริษัทฯ ตกลงปรับเงินค่าจ้างประจำปีของพนักงานเป็นระบบเปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างของพนักงานแต่ละคน ดังนี้ เกรด A ได้รับ 11 เปอร์เซ็นต์ เกรด B ได้รับ 9 เปอร์เซ็นต์ เกรด C ได้รับ 7 เปอร์เซ็นต์ เกรด D ได้รับ 6 เปอร์เซ็นต์ การปรับเงินค่าจ้างประจำปีตามข้อนี้ ให้มีผลใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นไป และเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2538 นายพี.เอ็น.มาตู้ รองประธานฝ่ายเทคนิคของจำเลย ได้ออกประกาศ เรื่อง การแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนตามเอกสารหมาย จ.1 ว่า “ข้อ 1 บริษัทฯ ตกลงปรับเงินค่าจ้างประจำปีของพนักงานซึ่งได้รับเกรดต่ำกว่า 51 เปอร์เซ็นต์ เป็นเกรดดี (GRADE D) และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ขอให้พนักงานดังกล่าวได้ปรับปรุงผลการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ เพื่อจะได้รับเกรดที่สูงขึ้นในปีต่อไปด้วย” โจทก์ทั้งสิบสามได้รับประเมินผลเป็นคะแนนต่ำกว่าเกรด D ในปีที่โจทก์ทั้งสิบสามเรียกร้องให้จำเลยปรับเพิ่มเงินตามคำฟ้อง
คดีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบสามประการแรกว่า การที่โจทก์ทั้งสิบสามได้รับประเมินผลเป็นคะแนน ต่ำกว่าเกรด D จำเลยต้องปรับเพิ่มค่าจ้างประจำปีตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 ตามเอกสารหมาย จล.5 ให้แก่โจทก์ทั้งสิบสามหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จล.5 ข้อ 3 ระบุไว้ว่า “บริษัทฯ ตกลงปรับเงินค่าจ้างประจำปีของพนักงานเป็นระบบเปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างพนักงาน ดังนี้ (1) เกรด A ได้รับ 10 เปอร์เซ็นต์ (2) เกรด B ได้รับ 8 เปอร์เซ็นต์ (3) เกรด C ได้รับ 7 เปอร์เซ็นต์ (4) เกรด D ได้รับ 6 เปอร์เซ็นต์ การปรับค่าจ้างประจำปี ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 เป็นต้นไป” โดยในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่าพนักงานที่ได้รับประเมินผลงานเป็นคะแนนต่ำกว่า เกรด D มีสิทธิได้ปรับเพิ่มค่าจ้างด้วย จึงต้องพิจารณาเจตนารมณ์ของสหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์และจำเลยจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับก่อนๆ ประกอบ ซึ่งปรากฏว่าตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 5 ธันวาคม 2536 ตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 5.2 ระบุว่า “บริษัทฯ ตกลงปรับเงินค่าจ้างประจำปีของพนักงานเป็นระบบเปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างของพนักงานแต่ละคน ดังนี้ เกรด A ได้รับ 11 เปอร์เซ็นต์ เกรด B ได้รับ 9 เปอร์เซ็นต์ เกรด C ได้รับ 7 เปอร์เซ็นต์ เกรด D ได้รับ 6 เปอร์เซ็นต์ การปรับเงินค่าจ้างประจำตามข้อนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นไป” โดยปรากฏว่าในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.2 มีผลใช้บังคับ สหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์ได้ร้องเรียนต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรีจนจำเลยได้ประกาศ ฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2538 ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งในข้อ 1 ของประกาศฉบับนี้ จำเลยระบุไว้ว่า “บริษัทฯ ตกลงประเมินค่าจ้างประจำปีของพนักงานซึ่งได้รับเกรดต่ำกว่า 51 เปอร์เซ็นต์ เป็นเกรดดี (GRADE D) และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามขอให้พนักงานดังกล่าวได้ปรับปรุงผลการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้เพื่อจะได้รับเกรดที่สูงขึ้นในปีต่อไปด้วย” อันแสดงว่าในปี 2538 จำเลยกับสหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์มีปัญหาเรื่องการปรับค่าจ้างให้พนักงานตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 5 ธันวาคม 2536 ข้อ 5.2 แล้วจำเลยจึงยอมปรับเกรดให้พนักงานที่ได้เกรดต่ำกว่า 51 เปอร์เซ็นต์ เป็นเกรด D ซึ่งเดิมพนักงานที่ได้เกรดต่ำกว่าเกรด D ไม่ได้รับการปรับค่าจ้างให้ได้รับการปรับค่าจ้าง 6 เปอร์เซ็นต์ ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 5 ธันวาคม 2536 ข้อ 5.2 ดังนั้น ต่อมาหากสหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์ แจ้งข้อเรียกร้องก็น่าจะต้องตกลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ชัดเจน แต่ปรากฏว่าตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2541 ตามเอกสารหมาย จล.4 ซึ่งฝ่ายสหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์และจำเลยต่างยื่นข้อเรียกร้องต่อกันยังตกลงเรื่องการขึ้นเงินประจำปี 2541 และปี 2542 ไว้ว่า “พนักงานเกรด เอ จะได้รับการขึ้นเงิน 7 เปอร์เซ็นต์ พนักงานเกรดบี จะได้รับการขึ้นเงิน 6 เปอร์เซ็นต์ พนักงานเกรด ซี จะได้รับการขึ้นเงิน 5 เปอร์เซ็นต์ และพนักงานเกรด ดี จะได้รับการขึ้นเงิน 4 เปอร์เซ็นต์” โดยมิได้ระบุว่า พนักงานที่ได้รับเกรดต่ำกว่า เกรด D มีสิทธิได้รับการปรับเพิ่มค่าจ้างด้วย ซึ่งสหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์กับจำเลยเพิ่งจะตกลงเกี่ยวกับการปรับเพิ่มเงินประจำปีไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 22 ตุลาคม 2546 ตามเอกสารหมาย จล.9 ในข้อที่ 3 ว่า “บริษัทฯ ปรับเงินค่าจ้างประจำปีของลูกจ้างเป็นเป็นระบบเปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างลูกจ้าง ดังนี้ (1) เกรด A ได้รับ 10 เปอร์เซ็นต์ (2) เกรด B ได้รับ 8 เปอร์เซ็นต์ (3) เกรด C ได้รับ 7 เปอร์เซ็นต์ (4) เกรด D และต่ำกว่าได้รับ 6 เปอร์เซ็นต์ทุกคน การปรับค่าจ้างประจำปีให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 เป็นต้นไป” อันแสดงว่าก่อนที่สหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์กับจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามเอกสารหมาย จล.9 ทั้งสองฝ่ายมิได้มีเจตนาที่จะปรับเพิ่มค่าจ้างประจำปีให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับการประเมินผลการทำงานเป็นคะแนนที่ต่ำกว่าเกรด D โจทก์ทั้งสิบสามซึ่งได้รับการประเมินผลงานเป็นคะแนนที่ต่ำกว่าเกรด D จึงไม่อาจอ้างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 มาเรียกร้องให้จำเลยปรับเพิ่มค่าจ้างตามฟ้องได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสิบสามฟังไม่ขึ้น
สำหรับอุทธรณ์ประการที่สองของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 ถึงที่ 13 ที่ว่า ค่าจ้างที่โจทก์ดังกล่าวเรียกร้องขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ดังกล่าวอุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยปรับค่าจ้างให้โจทก์สิบสาม คดียังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลว่าจำเลยจะต้องปรับค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสิบสามหรือไม่ จึงยังไม่เกิดเป็นค่าจ้าง ต้องใช้อายุความ 10 ปีนั้น เห็นว่า เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสิบสามซึ่งได้รับการประเมินผลงานเป็นคะแนนที่ต่ำกว่าเกรด D จึงไม่อาจอ้างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 มาเรียกร้องให้จำเลยปรับเพิ่มค่าจ้างตามฟ้องได้แล้ว ดังนี้สิทธิเรียกร้องค่าจ้างของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 ถึงที่ 13 จะขาดอายุความหรือไม่ ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคดีได้ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 ถึงที่ 13 ดังกล่าว จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน.

Share