คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ที่พิพาทมาในระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสนั้นถือว่าเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันคนละครึ่ง แม้ที่พิพาทจะมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่ผู้เดียวก็เป็นการกระทำแทนโจทก์ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเอาที่พิพาทส่วนของโจทก์ไปจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 2 โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนที่พิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย จึงเป็นการไม่สุจริต ไม่ผูกพันส่วนของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาทด้วย.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นรวมพิจารณาโดยสำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นสามีโจทก์แต่มิได้จดทะเบียนสมรสกัน โจทก์ได้ตกลงซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 41518 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร จากนายอนันต์ มงคลธรรม โดยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากผู้ขายเป็นซื่อของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1กลับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นของจำเลยที่ 1 แล้วสมคบกับจำเลยที่ 2 โอนขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนโจทก์ จำเลยทั้งสองปฏิเสธ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 41518 เป็นของโจทก์ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินระหว่างนายอนันต์ กับจำเลยที่ 1และระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แล้วจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การว่าเป็นผู้ออกเงินซื้อที่ดินพิพาทเอง จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำในฐานะตัวแทนโจทก์ การซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กระทำไปโดยสุจริต โจทก์มิได้ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างผู้ขายกับจำเลยที่ 1 ภายใน 1 ปี นับแต่วันโอนคดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ร่วมกันแสดงเจตนาลวงทำการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท แต่ได้ร่วมกันโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังจำเลยที่ 2 ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 41518 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนครโดยซื้อจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2526 โจทก์เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 59/101 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์จะให้โจทก์อาศัยอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 2 ต่อไปจึงแจ้งให้โจทก์รื้อถอนบ้านดังกล่าวออกไปจากที่ดิน โจทก์ไม่รื้อ จึงอยู่ในที่ดินโดยละเมิด และต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 2 ขอให้โจทก์รื้อบ้านเลขที่ 59/101 ออกไปจากที่ดินของจำเลยที่ 2 และใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 100 บาท และต่อไปอีกเดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อบ้านออกไปจากที่ดินของจำเลยที่ 2
โจทก์ให้การมีใจความทำนองเดียวกับฟ้องโจทก์สำนวนแรก
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 41518 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างนายอนันต์ มงคลธรรม กับจำเลยที่ 1 และการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และยกฟ้องจำเลยที่ 2 สำนวนหลัง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 41518 ตำบลบางจากอำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาแรกโจทก์และจำเลยที่ 1ต่างฎีกาว่า ตนเป็นผู้ซื้อที่พิพาทผู้เดียว นั้น ข้อเท็จจริงได้ความเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 ได้โจทก์เป็นภรรยาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส อยู่กินด้วยกันที่บ้านเช่าในซอยร่วมมิตรขณะนั้นโจทก์เป็นชิบปิ้งและเป็นลูกจ้างของบริษัททำดอกไม้ส่งต่างประเทศ จำเลยเป็นนายตรวจกองตรวจสินค้าขาเข้า ปี พ.ศ. 2520 โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อที่พิพาทจากนายอนันต์ มงคลธรรม เป็นเงิน 116,400 บาทชำระงวดแรก 50,000 บาท ที่เหลือผ่อนเป็นงวดไม่น้อยกว่าเดือนละ3,500 บาท ตามเอกสารหมาย จ.13 ปี พ.ศ. 2521 โจทก์สร้างบ้านตึก1 ชั้น ในที่ดินดังกล่าวโดยนายอนันต์ มงคลธรรม เจ้าของที่ดินทำหนังสือรับรอง ได้หมายเลขบ้าน 59/101 หมู่ 5 ตำบลบางจาก โจทก์เป็นผู้ขอติดตั้งไฟฟ้าด้วย ต่อมาวันที่ 29 ธันวาคม 2521 นายอนันต์มงคลธรรม ได้โอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 และลงชื่อจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่ผู้เดียวตามเอกสารหมาย จ.20 ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์เป็นผู้ทำสัญญาซื้อที่พิพาทจากนายอนันต์ มงคลธรรม โดยผ่อนชำระตามเอกสารหมาย จ.13 ต่อมาโจทก์ได้รับอนุญาตปลูกสร้างอาคารตึกชั้นเดียว ในฐานะเจ้าของตามเอกสารหมาย จ.16 โจทก์หรือจำเลยที่1 จะนำเงินที่ไหนมาชำระค่าที่พิพาทไม่ใช่ข้อสำคัญ เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ที่พิพาทมาระหว่างอยู่กินเป็นสามีภรรยากันต้องถือว่าเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันคนละครึ่ง โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาซื้อที่พิพาท โจทก์จึงเป็นผู้ซื้อ การที่นายอนันต์มงคลธรรม จดทะเบียนโอนที่ดินใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดนั้น น่าเชื่อว่าโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปรับโอนแทนโจทก์ แต่หนังสือมอบอำนาจไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 กับโจทก์ซึ่งกำลังจะจดทะเบียนสมรสกันอยู่แล้ว นายอนันต์ผู้ขายจึงยอมให้จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนด ทั้งจำเลยที่ 1 ได้มอบโฉนดให้โจทก์เก็บรักษาไว้เพื่อเป็นประกันว่า จำเลยที่ 1 จะไม่ไปทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ การที่จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่ผู้เดียวจึงเป็นการกระทำแทนโจทก์ด้วย ฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ว่าตนเป็นเจ้าของที่พิพาทฝ่ายเดียวจึงฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเอาส่วนของโจทก์ไปจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 2 โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 รับโอนโดยสุจริต และมีค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนแล้ว ที่พิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายตรวจศุลกากรเพื่อนร่วมงานกับจำเลยที่ 1 ทั้งเคยรู้จักโจทก์มาประมาณ 10 ปีจำเลยที่ 2 เบิกความว่าก่อนซื้อที่พิพาท เคยบอกโจทก์ว่าจะซื้อที่ดินแปลงนี้ โจทก์ว่าไม่ขัดข้อง ส่วนบ้านซึ่งปลูกอยู่ จำเลยที่ 2ได้เคยพูดคุยกับโจทก์ว่า เมื่อบุตรชายจำเลยที่ 2 จะเข้ามาอยู่ในที่ดินและจะขอซื้อบ้านบนที่ดินด้วย โจทก์ก็จะขายให้ ศาลฎีกาเห็นว่าจากพฤติการณ์ในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 2 ทราบดีว่าที่พิพาทและบ้านตึกที่ปลูกอยู่โจทก์เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย จึงได้บอกกับโจทก์เช่นนั้น ไม่มีเหตุอันใดที่จำเลยที่ 2 จะซื้อเฉพาะที่ดินอย่างเดียวไม่รวมถึงสิ่งปลูกสร้าง บ้านตึกเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มั่นคงถาวรถ้ารื้อไปย่อมเสียหาย จำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 ทั้งยังได้ให้บันทึกถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินรับรองว่าโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 หายไปจริง ซึ่งความจริงก็ปรากฏว่าโฉนดฉบับเจ้าของที่ดิน โจทก์เป็นผู้เก็บไว้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 มาโดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยจึงไม่สุจริต ไม่ผูกพันส่วนของโจทก์ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.

Share