คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะได้แถลงรับว่า ทะเบียนการเกิด การตายทะเบียนโรงเรียนทะเบียนสำมะโนครัว เป็นเอกสารที่แท้จริง ก็ฟังได้แต่เพียงว่า โจทก์ได้แจ้งไว้ว่าเจ้ามรดกเป็นบุตรของโจทก์จำเลยมิได้แถลงรับด้วยว่า โจทก์เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกทั้งก็ยังได้ความว่า โจทก์กับ ส. มารดาของเจ้ามรดกได้อยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แสดงอยู่ในตัวว่าโจทก์เป็นบิดานอกกฎหมายของเจ้ามรดก และในคำให้การของจำเลยก็ว่า ทายาทโดยชอบธรรมของเจ้ามรดกไม่มีบุคคลใดอีกนอกจากจำเลย ซึ่งแสดงว่าจำเลยมีข้อต่อสู้ว่าโจทก์มิใช่ทายาทของเจ้ามรดก หาใช่จำเลยสละข้อต่อสู้ที่ว่าโจทก์ไม่ใช่ทายาทของเจ้ามรดกนั้นเสียไม่
แม้โจทก์เป็นผู้ให้กำเนิดแก่เจ้ามรดกแต่โจทก์กับเจ้ามรดกก็ไม่มีฐานะเป็นบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ซึ่งบัญญัติถึงบิดากับบุตรว่า เป็นทายาทซึ่งกันและกัน หมายถึงเป็นบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมาย มิฉะนั้นก็ไม่เป็นทายาท และไม่มีสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกัน
บิดากับบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ตามปกติไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายต่อกันอย่างใดเลย และไม่มีสิทธิได้รับมรดกซึ่งกันและกันด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1627 เป็นบทบัญญัติวาง ข้อยกเว้นให้บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่บิดารับรองแล้วให้มีสิทธิได้รับมรดกของบิดา จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดกฎหมายบทนี้บัญญัติไว้แต่ว่าให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติให้ถือว่าเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย (อ้างฎีกาที่ 1271/2506)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางสงวนกับจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากันโจทก์แต่งงานกับนางสงวนแต่มิได้จดทะเบียนสมรส เกิดบุตร 1 คน คือนางสาวสมใจ โจทก์ได้แจ้งทะเบียนการเกิด และลงทะเบียนสำมะโนครัวว่า เป็นบุตรของโจทก์ระหว่างอยู่กินกับนางสงวน นางสงวนมีทรัพย์สินคือนา 1 แปลง ตามโฉนดที่ 2405 และที่ดินตามโฉนดที่ 2726 นางสงวนตายมิได้ทำพินัยกรรม ต่อมานางสาวสมใจตายโจทก์ขอรับมรดกที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จำเลยค้าน ขอให้ศาลสั่งว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ ฯลฯ

จำเลยให้การว่า ที่ดิน 2 แปลงดังกล่าว บิดามารดานางสงวนมอบให้นางสงวนก่อนอยู่กินกับโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิรับมรดกของนางสาวสมใจ

วันชี้สองสถาน คู่ความรับกันว่าทรัพย์พิพาทเป็นมรดกของนางสงวนตกทอดมายังนางสาวสมใจ โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตรตามกฎหมายคดีเหลือประเด็นเดียวว่าโจทก์หรือจำเลยใครจะเป็นทายาทของนางสาวสมใจคู่ความท้ากันให้ศาลพิสูจน์เอกสารที่ส่งศาลประกอบคำฟ้องและคำให้การไม่ติดใจสืบพยาน

ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์เป็นบิดานอกกฎหมาย ไม่เป็นทายาทของนางสาวสมใจ จำเลยเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิรับมรดกของนางสาวสมใจพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า นางสาวสมใจมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ แต่คดีนี้จำเลยมิได้ฟ้องแย้ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเลยไปว่าที่ดินตามโฉนดทั้งสองแปลงตกทอดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยนั้น เป็นการนอกประเด็นแห่งคดีพิพากษาแก้เป็นให้ตัดคำว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2405 และเลขที่ 2726 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยออกเสีย นอกจากนี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

แต่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 2 นาย ที่ได้ร่วมพิจารณาคดีนี้มีความเห็นแย้ง เห็นว่า โจทก์เป็นบิดาตามกฎหมายของนางสาวสมใจ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยจะได้แถลงรับว่า ทะเบียนการเกิดการตาย ทะเบียนโรงเรียน ทะเบียนสำมะโนครัว เป็นเอกสารที่แท้จริง ก็ฟังได้แต่เพียงว่า โจทก์ได้แจ้งว่า นางสาวสมใจเจ้ามรดกเป็นบุตรของโจทก์ตามเอกสารดังกล่าวเท่านั้น จำเลยมิได้แถลงรับด้วยว่า โจทก์เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของนางสาวสมใจ ข้อเท็จจริงยังได้ความอยู่ว่า โจทก์กับนางสงวนอยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แสดงอยู่ในตัวว่าโจทก์เป็นบิดานอกกฎหมายของนางสาวสมใจ และในคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยก็ว่าทายาทโดยชอบธรรมของนางสาวสมใจไม่มีบุคคลใดอีก นอกจากจำเลยผู้เดียวซึ่งแสดงว่าจำเลยยังมีข้อต่อสู้ว่า โจทก์มิใช่ทายาทของนางสาวสมใจนั่นเองหาใช่จำเลยสละข้อต่อสู้ที่ว่าโจทก์ไม่ใช่ทายาทของเจ้ามรดกนั้นเสียไม่

ตามข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกัน แสดงอยู่ว่า แม้โจทก์เป็นผู้ให้กำเนิดแก่นางสาวสมใจ แต่โจทก์กับนางสาวสมใจก็ไม่มีฐานะเป็นบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมาย มาตรา 1629 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติถึงบิดามารดากับบุตรว่าเป็นทายาทซึ่งกันและกันนั้น หมายถึงบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมายมิฉะนั้นก็ไม่เป็นทายาท และไม่มีสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกัน บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วนั้น มาตรา 1627 บัญญัติให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้ เห็นว่า บิดากับบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นตามปกติไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายต่อกัน และไม่มีสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกันกฎหมายมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติวางข้อยกเว้นให้บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่บิดารับรองแล้ว ให้มีสิทธิได้รับมรดกของบิดา จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด กฎหมายบทนี้บัญญัติไว้แต่ว่า ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติให้ถือว่าเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย ถ้ามุ่งหมายให้ถือว่าเป็นบิดาและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งกันและกันตามประมวลกฎหมายนี้ก็น่าจะระบุไว้ให้ชัดเช่นนั้น ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับมรดกนางสาวสมใจที่เกิดจากนางสงวน (อ้างฎีกาที่ 1271/2506 ซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่)

พิพากษายืน

Share