แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนศาลยกฟ้องโจทก์โดยว่า คำพยานโจทก์ขัดกัน เป็นถ้อยคำที่น่าสงสัย ไม่มีน้ำหนัก ดังนี้ เป็นเรื่องของการชั่งน้ำหนักคำพยานว่าพยานฝ่ายใดดีกว่ากันเท่านั้น หากจำเลยในคดีนั้นไม่มีพยานอื่นใดมาแสดงให้ชัดแจ้งว่าพยานโจทก์เบิกความเท็จแล้ว ก็จะสันนิษฐานว่าพยานโจทก์เบิกความเท็จหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๐๒ จำเลยทั้งสองเบิกความต่อศาลจึงหวัดลพบุรีในคดีแพ่งแดงที่ ๒๑๑/๒๕๐๒ ซึ่งนางไพ ดวงมา ฟ้องโจทก์ขอแบ่งมรดกว่า ๑ ที่นา เรือน ครัวไฟ ยุ้งข้าว ที่ดินปลูกเรือนเป็นของนายลี่ผู้ตาย และตกเป็นทรัพย์มรดก ๒. โจทก์ยินยอมแบ่งมรดกให้นางไพกึ่งหนึ่ง ๓. นางบไพได้ร่วมทำนาพิพาทกับโจทก์มาทุกปี ซึ่งเป็นความเท็จ และเป็นข้อสำคัญในคดีความจริงทรัพย์ดังกล่าวเป็นของโจทก์ ไม่ใช่มรดกนายลี่ โจทก์ไม่เคยยินยอมแบ่งทรัพย์ให้นางไพ และนางไพไม่ได้ร่วมทำนาพิพาทกับโจทก์ โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗
จำเลยทั้งสองปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ พิพากษาจำคุกจำเลยคนละ ๒ เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์จำเลยต่างมีพยานนำสืบโต้แย้งกันอยู่ จะฟังว่าฝ่ายใดเป็นเท็จไม่ถนัด พิพากษากลับยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว กรณีนี้เดิมนางไพฟ้องขอแบ่งมรดกจากนายไตโจทก์ในคดีนี้ต่อศาลจังหวัดลพบุรีตามคดีหมายเลขแดงที่ ๒๑๑/๒๕๐๒ ในคดีนั้นนางขำจำเลยที่ ๑ เบิกความเป็นพยานนางไพว่า เมื่อนายลี่บิดาตายมีนา ๑ แปลง เรือน ๑ หลัง ครัว ๑ หลัง ยุ้งข้าว ๑ หลัง กับที่ดินปลูกเรือนเป็นมรดก พี่น้องทุกคนตกลงยกให้นายไตโจทก์ในคดีนี้ และนายไพคนละครึ่ง นายไตและนางไพทำนาร่วมกันมาทุกปี และนางวานจำเลยที่ ๒ เบิกความว่า เมื่อนายลี่บิดาตาย มีนา เรือน ครัวไฟ และยุ้งข้าวเป็นมรดก บิดาตายได้ ๒ วัน ได้ประชุมกันที่บ้านบิดา นางวานได้พูดว่าได้แบ่งมรดกให้นายไตและนางไพ ทุกคนยินยอมรวมทั้งนายไตด้วย ต่อมานายไตนางไพทำนาร่วมกัน ข้อความที่จำเลยทั้งสองเบิกความดังกล่าวนี้ จะเป็นความเท็จหรือไม่นั้นศาลฎีกาเห็นว่า พยานโจทก์ที่นำมาสืบในคดีนี้ว่าจำเลยเบิกความเท้จนั้นก็เป็นพยานชุดเดียวกับที่เบิกความเป็นพยานให้โจทก์นี้ในสำนวนคดีแพ่งแดงที่ ๒๑๑/๒๕๐๒ ซึ่งโจทก์นี้เป็นจำเลย และนางไพเป็นโจทก์ คดีดังกล่าวอันเป็นเหตุให้เกิดฟ้องร้องคดีนี้ขึ้นนั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้ยกฟ้องนางไพ คดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไปแล้ว
มีใจความตอนหนึ่งว่า “การที่โจทก์นำสืบนางขำ นางวาน นางเติม และนายบุญ โดยมีการพูดจาแบ่งทรัพย์พิพาทกันหลังที่นายลี่บิดาตายแล้วขัดกับคำโจทก์เองรับฟังไม่ได้ และอีกตอนหนึ่งว่า “ส่วนนางขำ นางวาน พยานโจทก์อีกสองคนนั้นก็เบิกความในข้อที่มีการแบ่งทรัพย์ให้โจทก์จำเลยหลังจากนายลี่ตายแล้ว ทำให้เชื่อไม่ได้มาเสียแล้ว การที่พยานทั้งสองมาเบิกความในข้อที่โจทก์ได้ทำนาร่วมกับจำเลยอยู่ปีหนึ่ง หลังจากนายลี่บิดาตาย ก็ทำให้น่าสงสัย ไม่มีน้ำหนักที่จะให้เชื่อถือได้” ซึ่งเมื่อพิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลในคดีแพ่งแดงที่ ๒๑๑/๒๕๐๒ แล้วจะเห็นได้ว่า ศาลใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักคำพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาให้นายไตชนะคดี กล่าวคือ ศาลฟังเพียงว่าคำนางขำ นางวาน ขัดกับคำนางไพ และเป็นถ้อยคำที่สงสัยไม่มีน้ำหนักเท่ากัน เป็นเรื่องของการชั่งน้ำหนักคำพยานว่าพยานฝ่ายใดดีกว่ากัน จึงจะฟังว่าคำเบิกความของนางขำและนางวานเป็นความเท็จยังไม่ถนัด ทั้งพยานโจทก์ในคดีนี้คือ นายโอก นายไหว และนายช่วง ก็เป็นพยานในคดีแพ่งดังกล่าวนั้นเอง โจทก์หามีพยานอื่นใดที่จะแสดงให้ชัดแจ้งว่าจำเลยเบิกความเท็จไม่ มิฉะนั้น ในคดีที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งชนะคดีแล้ว
ก็ต้องสันนิษฐานว่าพยานของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพยานเท็จทั้งสิ้น ดังนี้หาได้ไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ชอบแล้ว
พิพากษายืน