แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันคำว่า “SOFT CARE” ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านเป็นรูปผู้หญิงโอบกอดทารกและมีอักษรโรมันคำว่า “CARE” และอักษรไทยคำว่า “แคร์” ประกอบอยู่ด้วย รูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าและเสียงเรียกขานจึงแตกต่างกัน แม้จะใช้กับสินค้าจำพวก 21 เหมือนกัน แต่ผู้คัดค้านจดทะเบียนรายการสินค้าเป็นแปรงสีฟัน ส่วนโจทก์ขอจดทะเบียนรายการสินค้าเป็นที่จ่ายสบู่เหลว จึงไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้านหรือสับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้าจึงไม่เกิดขึ้น แม้คำว่า “SOFT” จะแปลว่า “อ่อนนุ่ม” แต่เมื่อรายการสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเป็นที่จ่ายสบู่เหลว คำดังกล่าวจึงมิใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง จึงถือเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ โจทก์จึงไม่ต้องพิสูจน์ว่ามีการจำหน่ายเผยแพร่หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “SOFT CARE” จนแพร่หลายแล้วตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนดตามมาตรา 7 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2542 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “SOFT CARE” ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ากรมทรัพย์สินทางปัญญาในสินค้าจำพวก 21 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าประกาศคำขอจดทะเบียนในหนังสือประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า วันที่ 27 กันยายน 2543 คอลเกต – ปาล์มโอลีฟ คัมปะนี ได้ยื่นคำคัดค้านและโจทก์ได้ทำคำโต้แย้งคำคัดค้าน ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2545 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยให้ยกคำคัดค้านและได้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “SOFT CARE” ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2546 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยกลับคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์เห็นว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริง 4 ประการ กล่าวคือ
(1) การให้โจทก์ต้องแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้คำว่า “SOFT” นั้น
ไม่ชอบด้วยมาตรา 7 วรรคสอง (2) และมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
(2) เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “SOFT CARE” เป็นเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ได้คิดประดิษฐ์ขึ้นและมีลักษณะบ่งเฉพาะไม่นับว่าเป็นคำที่เล็งถึงคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง คำว่า “SOFT” เป็นความหมายที่มิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าซึ่งเป็นอุปกรณ์ทำด้วยพลาสติกสำหรับจ่ายสบู่เหลว
(3) เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับผู้คัดค้านไม่เหมือนหรือคล้ายกันจนถึงขนาดที่ประชาชนจะสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
(4) โจทก์มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้า “SOFT CARE” ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สำหรับสินค้าจำพวกที่ 3 ตามทะเบียนเลขที่ ค.65360 (คำขอเลขที่ 346445) ขอให้บังคับจำเลยให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ที่ให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 405810 และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 405810 ต่อไป
จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของคอลเกต – ปาล์มโอลีฟ คัมปะนี ต่างมีคำว่า “CARE” เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า ส่วนคำว่า “SOFT” เล็งถึงคุณสมบัติของสินค้าและไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 นอกจากนี้สำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าทั้งสองใกล้เคียงกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิด โจทก์ไม่เคยพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมายอันเกิดจากการใช้ของผู้ขอจดทะเบียนที่ผ่านมา เครื่องหมายการค้า “SOFT CARE” ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วสำหรับสินค้าจำพวกที่ 3 ตามทะเบียนเลขที่ ค.65360 (คำขอเลขที่ 346445) มีความแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 194/2546 เรื่องเครื่องหมายการค้า คำว่า “SOFT CARE” ตามคำขอเลขที่ 405810 เสีย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2542 โจทก์ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “SOFT CARE” ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ากรมทรัพย์สินทางปัญญา ในสินค้าจำพวก 21 รายการสินค้าที่จ่ายสบู่เหลว ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 405810 เอกสารหมาย จ.3 คอลเกต – ปาล์มโอลีฟ คัมปะนี ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ยื่นคำคัดค้านตามสำเนาคำโต้แย้งเอกสารหมาย จ.6 และโจทก์ทำคำโต้แย้งไว้ตามสำเนาคำโต้แย้งเอกสารหมาย จ.8 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้านและให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อไป ปรากฏตามสำเนาคำวินิจฉัยเอกสารหมาย จ.9 คอลเกต – ปาล์มโอลีฟ คัมปะนี ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามสำเนาคำอุทธรณ์เอกสารหมาย จ.10 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยกลับคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามสำเนาคำวินิจฉัยอุทธรณ์เอกสารหมาย จ.11
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.3 เป็นอักษรโรมันคำว่า “SOFT CARE” ส่วนเครื่องหมายการค้าของคอลเกต – ปาล์มโอลีฟ คัมปะนี ผู้คัดค้านตามเอกสารหมาย ล.12 รวม 26 เครื่องหมาย เป็นรูปผู้หญิงโอบกอดทารกและมีอักษรโรมันคำว่า “CARE” และอักษรไทยคำว่า “แคร์” ประกอบอยู่ด้วย รูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายจึงแตกต่างกันเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านตามทะเบียนเลขที่ ค.54297 และเลขที่ ค.67184 เอกสารหมาย ล.12 มีอักษรโรมันคำว่า “CARE” เท่านั้น ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์มิได้ใช้คำว่า “CARE” เท่านั้น แต่ใช้คำว่า “SOFT CARE” และเป็นอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด ในขณะที่เครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านใช้ตัวพิมพ์เล็กทั้งหมด ทั้งเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านเรียกขานว่า “แคร์” ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานว่า “ซอฟท์แคร์” เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจึงแตกต่างกัน นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านเกือบทั้งหมดก็ใช้กับสินค้าต่างจำพวกกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้เครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านทะเบียนเลขที่ ค.79283 กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จะใช้กับสินค้าจำพวก 21 เหมือนกัน แต่เครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านจดทะเบียนรายการสินค้าเป็นแปรงสีฟัน ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ขอจดทะเบียนรายการสินค้าเป็นที่จ่ายสบู่เหลว รายการสินค้าของเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจึงไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เมื่อรูปลักษณ์และเสียงเรียกขาน ตลอดจนรายการสินค้าของเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายแตกต่างกันดังกล่าวมาแล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว แม้เครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านจะใช้มาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี แต่เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านประกอบกับตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.9 ปรากฏว่าโจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้ารายนี้ไว้แล้วตามทะเบียนเลขที่ ค.65360 ใช้กับสินค้าจำนวน 3 รายการสินค้าสบู่เหลวเพื่อทำความสะอาดมืออันเป็นรายการสินค้าที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกับรายการสินค้าของเครื่องหมายการค้ารายนี้ โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้านหรือสับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้าจึงไม่เกิดขึ้นแม้คำว่า “SOFT” จะแปลว่า “อ่อนนุ่ม” แต่เมื่อรายการสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนในคดีนี้เป็นที่จ่ายสบู่เหลว คำดังกล่าวจึงมิใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ฉะนั้น จึงถือเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เมื่อเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ โจทก์จึงไม่ต้องพิสูจน์ว่ามีการจำหน่ายเผยแพร่หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “SOFT CARE” จนแพร่หลายแล้วตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนดตามมาตรา 7 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เพราะตามบทมาตราดังกล่าวกรณีที่จะต้องพิสูจน์ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจำกัดเฉพาะกรณีที่คำที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงเท่านั้น สรุปแล้วเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ