คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5245/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยกล่าวในคำให้การว่า ไม่รับรองว่าจะมีการส่งมอบเงินกู้ครบถ้วนจำนวนตามสัญญาหรือไม่ เพราะไม่ปรากฏจำนวนเงินนั้นทางเอกสารใด นอกจากสัญญารูปแบบมาตรฐานที่โจทก์ทำไว้ก่อนมีการลงนาม จำเลยมิได้กล่าวปฏิเสธให้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินกู้ไปตามสัญญา ทั้งมิได้ให้เหตุผลว่าเหตุใด โจทก์จึงไม่ได้ส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เหตุแห่งคำให้การปฏิเสธของจำเลยมิได้แสดงโดยชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบตามข้อกล่าวอ้างของตน การจะบอกเลิกสัญญากันได้นั้น ต้องอาศัยข้อสัญญาหรือกฎหมายที่มีบทบัญญัติให้เลิกสัญญาได้ จะเลิกสัญญาเอาเองโดยไม่มีข้อสัญญายินยอมกันหรือไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เลิกสัญญานั้นไม่ได้ สัญญาค้ำประกันเงินกู้ ไม่ได้กำหนดเป็นข้อสัญญาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6ฝ่ายผู้ค้ำประกันมีสิทธิเลิกสัญญาได้ และโจทก์ปฏิเสธไม่ยินยอมให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 บอกเลิกสัญญา ดังนี้สัญญาค้ำประกันยังไม่ระงับไป.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2525 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ สาขาถนนมิตรภาพ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 4,000,000 บาทตกลงคิดดอกเบี้ยกันในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จำเลยที่ 1 จะผ่อนชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์เดือนละ 200,000 บาท กำหนดชำระหนี้ให้เสร็จภายในวันที่ 19 มกราคม 2528 เพื่อเป็นการประกันหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 1 นำที่ดินโฉนดที่ 1072 ตำบลโพธิ์กลาง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา และที่ดินโฉนดเลขที่ 16815ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา มาจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1โดยยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งหกให้ชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉยขอบังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,203,256.63 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 3,028,597.23 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยทั้งหกไม่ชำระก็ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากไม่พอก็ให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งหกให้การว่า นายวสันต์ คงฉันท์มิตรกุล มิได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ เพราะผู้ทำการแทนโจทก์มิได้มีอำนาจบริบูรณ์ในวันลงนามมอบอำนาจและตราที่ประทับมิใช่ดวงตราของโจทก์ จำเลยทั้งหกไม่รับรองความถูกต้องสมบูรณ์ของสัญญากู้ยืมตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องไม่รับรองว่ามีการส่งมอบเงินครบตามสัญญาหรือไม่ เพราะไม่ปรากฏเงินจำนวนนั้นทางเอกสารใด นอกจากสัญญารูปแบบมาตรฐานที่โจทก์ทำไว้ก่อนมีการลงนาม โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ไม่ชอบด้วยประกาศกระทรวงการคลังที่ให้ลดดอกเบี้ยเหลือเพียงร้อยละ 15 ต่อปีการบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ตกลงกับโจทก์ยกเลิกการค้ำประกันทั้งหมดแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์โจทก์บรรยายฟ้องเคลือบคลุมไม่แจ้งชัดในเรื่องการเป็นหนี้ การชำระหนี้และหนี้ค้างชำระ
ในระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 4 และที่ 5 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายประพันธ์ บุญพาวัฒนา ที่ 1 นายเสรี ธัญญะเศรษฐ์ ที่ 2 นายวิชัยวิริยะไชโย ที่ 3 เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่ต่อมาจำเลยที่ 4 และที่ 5 ขอถอนคำร้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน3,028,597.23 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยทั้งหกไม่ชำระก็ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งหกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นซึ่งไม่โต้แย้งกันแล้ว ฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์จำนวน4,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 นำที่ดินจดทะเบียนจำนองไว้ 2 แปลงและจำเลยที่ 2-ที่ 6 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ด้วย…
ปัญหาข้อต่อไปที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินกู้จำนวน 500,000 บาท จากโจทก์ เพราะผู้ทำการแทนโจทก์หักเงินนั้นไว้เป็นค่าปากถุง เป็นข้อสำคัญของความสมบูรณ์แห่งสัญญากู้เงิน โจทก์ไม่ได้นำสืบปฏิเสธว่ามิได้ปฏิบัติดังกล่าว ข้อกล่าวอ้างและนำสืบของจำเลยจึงน่าเชื่อได้นั้น เห็นว่าในเรื่องนี้จำเลยกล่าวในคำให้การเพียงว่าไม่รับรองว่าจะมีการส่งมอบเงินกู้ครบถ้วนจำนวนตามสัญญาหรือไม่ เพราะไม่ปรากฏจำนวนเงินนั้นทางเอกสารใด นอกจากสัญญารูปแบบมาตรฐานที่โจทก์ทำไว้ก่อนมีการลงนาม จำเลยมิได้กล่าวปฏิเสธให้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินกู้ไปตามสัญญาทั้งมิได้ให้เหตุผลว่า เหตุใดโจทก์จึงไม่ได้ส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เหตุแห่งคำให้การปฏิเสธของจำเลยมิได้แสดงโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบตามข้อกล่าวอ้างของตน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ได้รับเงินกู้ 4,000,000 บาท ครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินหมาย จ.5 แล้ว…
ปัญหาข้อต่อไป จำเลยฎีกาว่า จำเลยที่ 2-ที่ 6 ได้บอกกล่าวยกเลิกสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว การจะบอกเลิกสัญญากันได้นั้นต้องอาศัยข้อสัญญาหรือกฎหมายที่มีบทบัญญัติให้เลิกสัญญาได้ จะเลิกสัญญาเอาเองโดยไม่มีข้อสัญญายินยอมกันหรือไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เลิกสัญญานั้นไม่ได้ ตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ไม่ได้กำหนดเป็นข้อสัญญาให้จำเลยที่ 2-ที่ 6 ฝ่ายผู้ค้ำประกันมีสิทธิเลิกสัญญาได้ทั้งข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบก็ฟังได้ว่า ฝ่ายโจทก์ได้มีหนังสือหมาย ล.11 ตอบปฏิเสธไม่ยินยอมให้จำเลยที่ 2-ที่ 6 บอกเลิกสัญญาค้ำประกันตามที่ทนายจำเลยมีหนังสือแจ้งไป สัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2-ที่ 6 จึงยังไม่ระงับไป โจทก์ยังมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยที่ 2-ที่ 6 ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันนั้นได้…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน4,203,256.63 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 3,028,597.23 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share