แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 696 วรรคหนึ่งผู้ค้ำประกันจะสิ้นสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ก็ต่อเมื่อได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ไปโดยมิได้บอกลูกหนี้และลูกหนี้ได้ชำระหนี้ซ้ำอีกเพียงกรณีเดียวเท่านั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ป. ชำระหนี้จำนวน 390,000 บาท ให้แก่บริษัท ธ. เจ้าหนี้ของ ป. ไปแล้ว คงเหลือยังไม่ได้ชำระอยู่อีกจำนวน 43,441.43 บาท หนี้จำนวนที่ยังไม่ได้ชำระนี้ต่อมาจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ป. ซึ่งถึงแก่กรรมในเวลาต่อมาถูกฟ้องและได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความชดใช้ให้แก่ บริษัท ธ. โดยไม่ได้ซ้ำกับยอดหนี้ส่วนที่โจทก์ได้ชำระแทนไปแล้ว ดังนั้นแม้โจทก์จะไม่ได้บอกแก่จำเลยว่าโจทก์ ได้ชำระหนี้แทน ป. ให้จำเลยทราบก็ตามก็ชอบที่จะรับช่วงสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเงินจำนวน 390,000 บาทเอาแก่จำเลยได้ สิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยซึ่งเป็นทายาทของป. เกิดจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้เงินกู้ที่ ป.เจ้ามรดกมีอยู่ต่อบริษัท ธ. ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิที่ฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยได้ สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นในวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ไปอันเป็นเวลาหลังจากที่เจ้ามรดกตาย เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยเรื่องอายุความแห่งการรับช่วงสิทธิไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามมาตรา 164 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คืออายุความสิบปี จะนำอายุความหนึ่งปีตามมาตรา 1754 วรรคสาม ซึ่งเป็นอายุความสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อเจ้ามรดก มาใช้ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2528 โจทก์ได้ทำสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินของนายประจักษ์หรือเชาว์ ศรียะพันธ์ไว้ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามธนการ จำกัด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด ภายในวงเงิน300,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม วันที่ 12 ธันวาคม 2528 นายประจักษ์กู้ยืมเงินไปจากบริษัทดังกล่าว จำนวน 300,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ต่อมานายประจักษ์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่12 ธันวาคม 2531 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยซึ่งเป็นภรรยาเป็นผู้จัดการมรดกของนายประจักษ์และเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2532โจทก์นำต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 390,000 บาท ไปชำระแก่บริษัทดังกล่าวแทนนายประจักษ์ จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประจักษ์จะต้องรับผิดใช้เงินจำนวน 390,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวนนั้นนับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2532 ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยจำนวน 12,187 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 402,187 บาทให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 402,187 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 390,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ชำระเงินจำนวน 390,000 บาท ไปเองโดยไม่ได้บอกให้จำเลยหรือทายาทของนายประจักษ์ทราบ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในเงินที่โจทก์ได้ชำระไป ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 390,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 12,187 บาท เท่าที่โจทก์ขอทั้งนี้ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต่อไปมีว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเงินจำนวน 390,000 บาท เอาแก่จำเลยได้หรือไม่ เห็นว่าตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 ข้อที่ 1 และข้อที่ 2ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่สามารถชำระหนี้ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดหรือลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชดใช้เงินตามจำนวนที่ค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปีให้แก่เจ้าหนี้โดยสิ้นเชิงทันทีเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 15821/2532ของศาลแพ่ง นายประจักษ์เป็นหนี้ต้นเงินต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด อยู่จำนวน 266,668 บาท และค้างดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2529 ถึงวันที่ 4 เมษายน 2532 ซึ่งเป็นวันฟ้องคดีดังกล่าวอยู่จำนวน 166,773.43 บาท รวมเป็นเงิน 433,441.43 บาทการที่โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้แทนนายประจักษ์ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด ไปจำนวน 390,000 บาทจึงไม่เกินจำนวนเงินที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด การชำระหนี้ของโจทก์ดังกล่าวฟังได้ว่าปฏิบัติไปภายในขอบเขตแห่งสัญญาค้ำประกันและโดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ชำระเงิน 390,000 บาท เกินกว่าความรับผิดของโจทก์ที่มีอยู่เพียง 300,000 บาท จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกันส่วนข้อฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ชำระหนี้ไปเองโดยไม่ได้บอกให้จำเลยหรือทายาทของนายประจักษ์ทราบ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในเงินจำนวน 390,000 บาท ที่โจทก์ได้ชำระให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 696 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ได้ ถ้าว่าตนได้ชำระหนี้แทนไปโดยมิได้บอกลูกหนี้และลูกหนี้ยังมิรู้ความมาชำระหนี้ซ้ำอีก”จากข้อบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่าผู้ค้ำประกันจะสิ้นสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ไปโดยมิได้บอกลูกหนี้และลูกหนี้ได้ชำระหนี้ซ้ำอีกเพียงกรณีเดียวเท่านั้น ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่าเมื่อโจทก์ชำระหนี้จำนวน 390,000 บาทให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด ไปแล้ว คงเหลือยอดหนี้ที่บริษัทเจ้าหนี้ยังไม่ได้รับชำระหนี้อยู่อีกจำนวน43,441.43 บาท หนี้จำนวนที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้ต่อมาจำเลยและพวกซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 15821/2532ของศาลแพ่งก็ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความชดใช้ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด แล้วจำนวน 58,851 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่โจทก์ได้ชำระเงินจำนวน 390,000 บาท คือนับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2532เป็นต้นไปซึ่งจำเลยเองก็เบิกความรับในเรื่องที่จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระเงินจำนวน 50,000 บาทเศษ ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยยอมชำระหนี้ของนายประจักษ์ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด เท่าจำนวนที่เหลือจากจำนวนที่โจทก์ได้ชำระแทนไปแล้วเท่านั้น การชำระหนี้ของจำเลยหาได้ซ้ำกับยอดหนี้ส่วนที่โจทก์ได้ชำระแทนไปแล้วไม่ ดังนั้นแม้โจทก์จะไม่ได้บอกกล่าวแก่จำเลยว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ที่นายประจักษ์มีอยู่ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด แทนนายประจักษ์ไปจำนวน 390,000 บาท ให้แก่จำเลยทราบก็ตาม เมื่อจำเลยไม่ได้ชำระหนี้จำนวนนั้นซ้ำโจทก์ก็ชอบที่จะรับช่วงสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเงินจำนวน390,000 บาท เอาแก่จำเลยผู้เป็นทายาทของนายประจักษ์ได้ดังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วเพราะโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อโจทก์ได้รู้ถึงความตายของนายประจักษ์เจ้ามรดก อันเป็นอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสามนั้น เห็นว่าสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยเกิดจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้ที่นายประจักษ์มีอยู่ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัดในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ที่นายประจักษ์มีอยู่ต่อบริษัทดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของการเป็นเจ้าหนี้แทนบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด ที่ฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลย สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน2532 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้จำนวน390,000 บาท ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัดไปอันเป็นเวลาหลังจากที่เจ้ามรดกตาย เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยเรื่องอายุความแห่งการรับช่วงสิทธิไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามมาตรา 164 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ คืออายุความสิบปีจะนำอายุความหนึ่งปีตามมาตรา 1754 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นเรื่องอายุความสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อเจ้ามรดกมาใช้แก่กรณีนี้ไม่ได้ โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 ยังไม่พ้นสิบปีนับแต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลย ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน