คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5240/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีข้อความว่า จำเลยจะชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวนเต็มตามฟ้องโดยผ่อนชำระเป็นรายเดือนจนกว่าจะครบถ้วนให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี หากโจทก์ได้รับชำระครบถ้วนแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องคดีนั้น เป็นข้อตกลงในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเท่านั้น และตามข้อตกลงดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไปแล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปแต่อย่างใด เมื่อจำเลยมิได้ใช้เงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์ และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 คดีจึงไม่เลิกกัน สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) การกระทำของจำเลยเป็นความผิด มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 9 กระทง เป็นจำคุก 9 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน 15 วัน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายและมีเหตุที่ทำให้จำเลยไม่ต้องรับโทษหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาอ้างว่า ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันที่ 28 พฤษภาคม 2552 โจทก์ไม่มาศาล ศาลต้องยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 นั้น เห็นว่า กรณีที่ศาลจะยกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณาคดีและศาลได้กำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณาคดีไว้ ต่อเมื่อโจทก์ได้ทราบกำหนดนัดนั้นแล้วไม่มาศาล ศาลจึงพิพากษายกฟ้องเสีย คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หาได้กำหนดนัดเพื่อไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีไม่ แม้โจทก์ทราบนัดแล้วไม่มาศาลในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวก็ไม่มีเหตุที่ศาลจะยกฟ้อง และศาลชั้นต้นก็สามารถอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยโจทก์ไม่อยู่ก็ได้ แต่ในวันดังกล่าวจำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับจำเลยและเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไป เมื่อศาลชั้นต้นออกหมายจับแล้วไม่ได้ตัวจำเลยมาภายในหนึ่งเดือนนับวันออกหมายจับ ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ฟังและถือว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษาแล้วตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 6 สิงหาคม 2552 ดังนี้ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 วรรคสาม แล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงมีผลบังคับและมีเหตุที่ทำให้จำเลยต้องรับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ อันมีผลทำให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาของโจทก์ระงับไปหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 มีข้อความว่า จำเลยจะชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวนเต็มตามฟ้องและจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี โดยในปีที่ 1 จะชำระไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท ปีที่ 2 จะชำระไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท และปีที่ 3 จะชำระไม่ต่ำกว่าเดือนละ 30,000 งวดแรกชำระวันที่ 20 ตุลาคม 2550 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 20 ของทุกเดือนจนกว่าจะชำระครบถ้วน หากโจทก์ได้รับชำระครบถ้วนแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องคดีนี้ เห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเท่านั้น และตามข้อตกลงดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไปแล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปแต่อย่างใด เมื่อจำเลยมิได้ใช้เงินตามเช็คพิพาททั้งเก้าฉบับให้โจทก์ และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 คดีจึงไม่เลิกกัน สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share