คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5239/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่สองเมื่อพ้นกำหนดที่ศาลชั้นต้นขยายให้แล้ว ทั้งตามคำร้องก็อ้างเหตุแต่เพียงว่า ยังไม่ได้รับเอกสารที่ขอคัดถ่าย และใบเสร็จที่เจ้าหน้าที่ออกให้ยึดถือเป็นหลักฐานสูญหายไป ยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่มิอาจยื่นคำร้องก่อนสิ้นระยะเวลานั้น จึงไม่มีเหตุที่จะขยายเวลายื่นอุทธรณ์ให้ตามคำร้องที่เสนอเมื่อพ้นกำหนดเวลาได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีกหลายครั้ง จนจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 3 มิถุนายน 2546 ก็ตาม ถือได้ว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเกินกำหนดเวลาไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะรับไว้พิจารณาพิพากษา และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นรับฎีกาเฉพาะข้อที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยเพราะยื่นเกินกำหนดเวลา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ในวันที่ 8 ธันวาคม 2545 แต่วันดังกล่าวเป็นวันอาทิตย์หยุดราชการ จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอื่นอุทธรณ์ในวันที่ 9 ธันวาคม 2545 ออกไปอีก 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาดังกล่าวถึงวันที่ 8 มกราคม 2546 ซึ่งเป็นวันพุธ ต่อมาวันที่ 9 มกราคม 2546 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต หลังจากนั้นจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาต่อศาลชั้นต้นอีก 4 ครั้ง และศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอื่นอุทธรณ์ได้ทุกครั้ง จนในที่สุดจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 3 มิถุนายน 2546 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยโดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเกินกำหนดเวลาไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะรับไว้พิจารณานั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งแรกในวันที่ 9 ธันวาคม 2545 ออกไปอีก 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาดังกล่าวถึงวันที่ 8 มกราคม 2546 ซึ่งเป็นวันพุธ ดังนั้น การที่จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่สองในวันที่ 9 มกราคม 2546 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาเมื่อพ้นกำหนดที่ศาลชั้นต้นขยายให้แล้ว ทั้งตามคำร้องก็อ้างเหตุแต่เพียงว่า ยังไม่ได้รับเอกสารที่ขอคัดถ่ายและใบเสร็จที่เจ้าหน้าที่ออกให้ยึดถือเป็นหลักฐานสูญหายไป ยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่มิอาจยื่นคำร้องก่อนสิ้นระยะเวลานั้น จึงไม่มีเหตุที่จะขยายเวลายื่นอุทธรณ์ให้ตามคำร้องที่เสนอเมื่อพ้นกำหนดเวลาได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีกหลายครั้ง จนจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 3 มิถุนายน 2546 ก็ตาม ถือได้ว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเกินกำหนดเวลา ไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะรับไว้พิจารณาพิพากษา และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share