คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 125/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษซึ่งในขณะเกิดเหตุอยู่ในอำนาจศาลทหาร ที่จะพิจารณาพิพากษา ตามประกาศพระบรมราชโองการให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญา อย่างเพิ่มเติม ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2502 และยังอยู่ในอำนาจศาลทหารตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศพระบรมราบโองการให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่างเพิ่มเติม พ.ศ. 2514 นั้น ศาลพลเรือนย่อมไม่มีอำนาจสั่งรับประทับฟ้องและดำเนินคดี แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับพิจารณาพิพากษามาโดยลำดับก็ตาม หากปรากฏต่อศาลฎีกาว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ศาลฎีกาย่อมพิพากษายกฟ้อง
คำฟ้องที่บรรยายวันเวลากระทำผิดไว้ว่าเหตุเกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลาที่คดีอยู่ในอำนาจศาลทหาร เมื่อศาลพลเรือนได้ประทับฟ้องไว้ และพิจารณาพิพากษาคดีมาโดยลำดับ แม้ความปรากฏในภายหลังว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ก็ยังเป็นกรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 15 วรรค 2 เพราะวันเวลาเกิดเหตุปรากฎแก่ศาลตั้งแต่ศาลตรวจคำฟ้องแล้วว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร หาใช่เป็นกรณีที่จะต้องมีการพิจารณาเสียก่อนจึงจะปรากฏตามทางพิจารณาในภายหลัง ตามความในมาตรา 15 วรรค 2 นั้นไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๑๔ เวลากลางวัน จำเลยมีเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ ซึ่งเป็นเกลือของเฮโรอีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษ ที่ต้องห้ามเด็ดขาด ไว้ในครอบครองหนัก ๑๒.๑๕ กรัม และจำเลยได้ขาย จำหน่าย จ่ายแจกเฮโรอีนแก่บุคคลอื่น เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ พร้อมด้วยเฮโรอีน และเงินที่ได้จากการขายเฮโรอีน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๔๖๕ แก้ไขเพิ่มเติม โดยฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๐๔ มาตรา ๖, ๗, ๑๒ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้ต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๔๖๕ มาตรา ๒๐ ทวิ ๒๐ ตรี ๒๙ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับ ที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๖, ๗, ๑๒ แต่ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๐ ทวิ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๖ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก ๖ ปี ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังเป็นที่น่าสงสัย พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ริบเฮโรอีน คืนเงินที่ยึดไว้แก่จำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยเรื่องอำนาจศาลในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้เสียก่อน ปัญหาข้อนี้แม้จะไม่มี ฝ่ายใดกล่าวอ้างขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ที่เหตุเกิดขึ้นตามวันเวลาที่โจทก์กล่าวในฟ้องเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารพิจารณาพิพากษา ตามประกาศพระบรมราชโองการให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่างเพิ่มเติม ลงวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๐๒ แม้ต่อมาจะได้มีพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศพระบรมราชโองการให้ศาลทหารพิจารณาคดีอาญาบางอย่างเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๑๔ ใช้บังคับ อันมีผลทำให้คดีความผิดเช่นนี้ ไม่ต้องขึ้นศาลทหารอีกต่อไป แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๑๔ อันเป็นวันภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ ความผิดนี้จึงอยู่ในอำนาจศาลทหารพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา ๔ แห่ง พระราชบัญญัตินั้น ศาลพลเรือนไม่มีอำนาจสั่งรับประทับฟ้องและดำเนินคดี และกรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้น ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๕ วรรค ๒ เพราะวันเกิดเหตุในคดีนี้ปรากฏแก่ศาลตั้งแต่ศาลตรวจคำฟ้องแล้วว่าเป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลทหาร หาใช่เป็นกรณีที่จะต้องมีการพิจารณาเสียก่อน จึงจะปรากฏตามทางพิจารณาในภายหลัง ตามความใน มาตรา ๑๕ วรรค ๒ นั้นไม่ เทียบได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๔/๒๕๐๘ ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดปราจีนบุรี โจทก์ นางสว่าง โงววัน กับพวก จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองรับพิจารณาพิพากษาคดีนี้มาจึงไม่ถูกต้อง
พิพากษายืน ให้ยกฟ้องโจทก์

Share